เพลงฉ่อยชาววัง

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เลือกตั้ง 62: การเลือกตั้งไร้อิสระ - เมื่อ กกต. ถูกยึดด้วยอำนาจ คสช.

เมื่อ 24 ต.ค. 2561 โดย iLaw

การเลือกตั้งตามโรดแมปในรัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดเดือนพฤษภาคม 2562 และนอกจากพรรคการเมืองผู้เข้าแข่งขันแล้ว ตัวละครสำคัญที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งกว่าจะได้ กกต. ชุดนี้มาต้องผ่านกลไกต่างๆ ที่ คสช. วางไว้จนพอใจ

 กลไกสำคัญในการคัดเลือก กกต. คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะเป็นด่านสุดท้ายที่เห็นชอบผู้สมัคร กกต. โดย สนช. ใช้การพิจารณาถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกมีรายชื่อผู้สมัครเข้าเป็น กกต. จำนวน 7 คน ทั้งหมดถูก สนช. ตีตกยกชุด ต่อมาในครั้งที่สอง สนช. เห็นชอบเลือก กกต. จำนวน 5 คน จากที่เสนอไปทั้งหมด 7 คน และตีตกไป 2 คน กระทั่งมีการสรรหาใหม่ในรอบที่สาม ซึ่งทั้งสองรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งไปได้รับการเห็นชอบจาก สนช. ทำให้ได้ กกต. ครบ 7 คน ตามรัฐธรรมนูญ โดยทุกครั้งที่มีการลงมติเห็นชอบโดย สนช. เป็นการพิจารณา ‘ลับ’

 กกต. 5 คน ที่ สนช. เห็นชอบในรอบที่สอง ได้รับการประกาศแต่งตั้งเมื่อ 15 สิงหาคม 2561 แต่เมื่อโรดแมปการเลือกตั้งเริ่มชัดเจน การคลายล็อคพรรคการเมืองเริ่มขึ้น การทำหน้าที่ของ กกต. กลับสร้างความมึนงงชวนสงสัยให้พรรคการเมือง เพราะเมื่อมีคำถามเรื่องการทำกิจกรรมทางการเมืองที่ กกต. ไม่สามารถตีความและให้คำตอบว่าพรรคการเมืองสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ ซึ่งประธาน กกต. ได้ยังตอบชัดเจนว่า อำนาจชี้ขาดว่าสิ่งใดเป็นกิจกรรมทางการเมือง หากสงสัย กกต. ต้องสอบถาม คสช. เพื่อให้เข้าใจตรงกันได้


มาลองดูประวัติกันว่า คนที่จะมาเป็นกรรมการในสนามการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เป็นใครบ้าง และที่มาของ กกต. ชุดนี้ ได้มาอย่างไร

 ประธาน กกต. อิทธิพร บุญประคอง 

เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2499  จบการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2522 และ นิติศาสตรมหาบัณฑิต Tulane University สหรัฐอเมริกา ปี 2527

 ก่อนเป็น กกต. รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศมาตลอด เคยดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย รองตัวแทนของประเทศไทยในคดีตีความคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยปราสาทพระวิหาร ปี 2553 เอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ปี 2555  เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทยในการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนเข้ารับการเลือกตั้งของไทย ในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ปี 2559

ส่วนทางด้านกรรมการการเลือกตั้งอีก 6 คน คือ

สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2501 จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์บัณฑิต (จุลชีววิทยา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2523 จบคณะวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (จุลชีววิทยาอุตสาหกรรม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2527 จบการศึกษาเกษตรดุษฎีบัณฑิต สาขาเกษตรเคมี จากมหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ปี 2533 จบการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาเอกหรือ Past Doctoral Degree ในสาขาเทคโนโลยียีนในเรื่องการจัดการยีสต์ (Gene Technology on Yeast) จากสถาบันเทคโนโลยีคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2537

 มีประสบการณ์ทำงานเป็นอาจารย์ในระดับ 6 และ 7 ในเดือนพฤศจิกายน 2537 – ตุลาคม 2539 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 7-9 ในสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

 สำหรับการทำงานก่อนมารับตำแหน่ง กกต. เป็นศาสตราจารย์ระดับ 10 ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มีนาคม 2552 – ปัจจุบัน) กรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพ (พฤษภาคม 2553 – ปัจจุบัน) กรรมการสภาวิชาการอาวุโส วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (สิงหาคม 2554-ปัจจุบัน) กรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (กันยายน 2559-ปัจจุบัน) อนุวุฒาจารย์สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรกฎาคม 2560-ปัจจุบัน) และเป็นกรรมการบริหาร สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (พฤษภาคม 2561-ปัจจุบัน)

ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

จบการศึกษา รัฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2518 และ ปริญญาโทจากคณะการเมืองเปรียบเทียบและการจัดการสาธารณะ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ปี 2522

ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นผู้ว่าราชการหลายจังหวัด เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่แต่งตั้งโดย คสช. (2558-2560) และกรรมการองค์กรการตลาดกระทรวงมหาดไทย (2559-2560) เป็นข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย และเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ

 ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

จบการศึกษาจากนิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2519 จบการศึกษา เนติบัณฑิตไทย รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปี 2519

ที่ผ่านมาทำงานเป็นอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 (ตุลาคม 2551- กันยายน 2554) ผู้พิพากษาศาลฎีกา (ตุลาคม 2554 -กันยายน 2556) ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (ตุลาคม 2556 -กันยายน 2558) และเป็น ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 (ตุลาคม 2558 – กันยายน 2560)

 ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2498 จบการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า

ที่ผ่านมาทำงานเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 9 (ตุลาคม 2555 – มีนาคม 2556) และเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ (เมษายน 2556 – กันยายน 2556)

 เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จบการศึกษา Bachelor of Science (Civil Engineering) จาก Central New England College of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา และ  นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ระดับปริญญาโท Master of Business Administration จาก Florida Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา







ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ ทนายความ



เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2501 จบการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยปทุมธานี



เคยผ่านการฝึกอบรมเพื่อหลักนิติธรรมประชาธิปไตย (นธป. รุ่น 1) ในปี 2556 ร่วมรุ่นกับ ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา

นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาสมัยนุกรักษ์ ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ 9 กันยายน 2557

 จากรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกมาดำรงตำแหน่ง กกต. ทั้ง 7 คน พบว่า ทุกคนเป็นผู้ชายที่อายุมากกว่าหกสิบปี และไม่มีใครที่มีผลงานหรือประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ทุกคนที่ผ่านการคัดเลือกมีประวัติการทำงานในวงการราชการมีผลงานที่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล คสช. คนที่มีประวัติโดดเด่น คือ สันทัด ศิริอนันตไพบูลย์ ที่เป็นนักวิชาการ แต่ก็เป็นนักวิชาการสายสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการเลือกตั้งหรือการเมืองการปกครอง

สำหรับ กกต. อีกสองคนที่ไม่ได้รับการเห็นชอบจาก สนช. ในรอบที่สอง คือ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด และประธาน กกต. จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งพีระศักดิ์ยังเคยถูกดิสเครดิต ในช่วงที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ด้วยการขึ้นป้ายต้าน “ไม่เอาผู้ว่าเสื้อแดง”

   ย้อนดูการสรรหาที่ปิดลับ กว่าจะได้มาซึ่ง กกต. ชุดนี้

 ขั้นตอนการสรรหา กกต. ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ให้มีประธาน และกรรมการ กกต. รวม 7 คน มีที่มาจาก 2 ทาง โดย 5 คนแรก มาจากคณะกรรมการการสรรหาตาม มาตรา 11 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.กกต.) ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน และกรรมการที่มาจากประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธาน สนช. ทำหน้าที่แทน) ตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญ และตัวแทนองค์กรอิสระที่มิใช่ กกต. องค์กรละ 1 คน

 ซึ่งคณะกรรมการสรรหา กกต.  ชุดนี้ประกอบด้วย

 ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นกรรมการ
ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ ซึ่ง สนช. เห็นชอบให้เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559
บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง คือ ศาสตราจารย์เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ เป็นกรรมการ
บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง คือ ศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี เป็นกรรมการ
บุคคลซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแต่งตั้ง คือ ประเสริฐ โกศัลวิตร เป็นกรรมการ
และบุคคลซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่งตั้ง คือ วิโรจน์ จิวะรังสรรค์ เป็นกรรมการ

 ส่วนรายชื่อ กกต. อีก 2 คนที่เหลือ มีที่มาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยทั้งคณะกรรมการสรรหา และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีเวลาสรรหาไม่เกิน 90 วัน ก่อนส่งรายชื่อทั้ง 7 คน เข้าที่ประชุม สนช. เพื่อพิจารณาว่าเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายบุคคล หากที่ประชุม สนช. ไม่เห็นชอบกับบุคคลใด ต้องกลับไปเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่เป็นรายบุคคล

สำหรับกระบวนการสรรหา เป็นไปตาม พ.ร.ป. กกต. 2560 ซึ่งกว่าจะได้มาซึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ง่าย เนื่องจาก กกต. (ชุดเก่า) จะเห็นแย้งกับบทบัญญัติบางมาตรา โดยเฉพาะเรื่อง คุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหา และคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็น กกต. เพราะมองว่ามันจะก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเมื่อมีการประกาศใช้  ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังกำหนดว่า ถ้าหน่วยงานเจ้าของกฎหมายเห็นแย้ง ก็จำเป็นจะต้องตั้งกรรมาธิการสามฝ่าย อันประกอบด้วย กกต. ตัวแทนจาก สนช. และตัวแทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะส่งให้ที่ประชุม สนช. ลงมติอีกรอบ แต่ดูเหมือน ความเห็นแย้งของ กกต. จะไม่มีน้ำหนักพอ เพราะท้ายที่สุด ที่ประชุม สนช. ก็ลงมติเอกฉันท์ให้ผ่านกฎหมายฉบับนี้ 

 กระทั่ง เริ่มมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา กกต. ตามกฎหมาย สิ่งที่ กกต.(ชุดเก่า) เคยท้วงติงไว้ ดูเหมือนจะเห็นผลเป็นจริงขึ้นมา เพราะหาคนที่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการสรรหาได้ยาก บางองค์กรไม่สามารถหาได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด และไม่ได้คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ ด้านผู้สมัคร กกต. ก็ไม่มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่มาจากสายนักกฎหมายและข้าราชการ

การเปิดรับสมัคร กกต. ครั้งแรก ได้เริ่มขึ้น ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม - 10 พฤศจิกายน 2560

มีผู้สมัครจำนวน 41 คน หากดูจากคุณสมบัติของผู้สมัครแต่ละคน จะพบว่า กลุ่มข้าราชการเป็นผู้สมัครมากที่สุด จำนวน 19 คน ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน 16 คน ข้าราชการทหาร 2 คน และตำรวจ 1 คน รองลงมาเป็น กลุ่มวิชาชีพ 13 คน ได้แก่ ทนายความและนักกฎหมาย 11 คน นักธุรกิจ นักบัญชี การเงินการคลัง 2 คน กลุ่มภาคประชาสังคม 5 คน และกลุ่มนักวิชาการ 4 คน นอกจากนี้ ถ้าดูจำนวนอายุของผู้สมัครจะพบว่า อายุของผู้สมัครกระจุกตัวอยู่ที่ช่วง 50-60 ปี โดยมีอายุต่ำสุด 45 ปี และสูงสุด 66 ปี

 เห็นชอบครั้งที่ 1 – สนช. ตีตกยกชุด ไม่เปิดเผยรายงาน

 จากการเปิดรับสมัครดังกล่าว ต่อมาได้มีการคัดเลือกจนเหลือผู้ผ่านเข้ารอบ 7 คน ประกอบด้วย

1) เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ผู้เคยร่วมเวทีสัมมนาของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อครั้งที่เริ่มออกมาขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในช่วงเดือนมีนาคม 2551

2 ) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

3 ) อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

4 ) ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมายบริษัทวรวิสิฏฐ์

5 ) ประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

6 ) ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา

7 ) ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 



22 กุมภาพันธ์ 2561 สนช. ได้นัดประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบผู้สมัคร กกต. ชุดใหม่ ทั้ง 7 คน ทว่า สนช. กลับมีมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อแม้แต่คนเดียว โดยเหตุผลที่ สนช. ไม่เห็นชอบนั้น ไม่ได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการ คาดการณ์กันว่า เนื่องจากผู้สมัครยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ และผู้สมัคร กกต. ที่มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ก็มีปัญหาเรื่องกระบวนการสรรหาที่ไม่ได้ลงคะแนนเลือกกันโดยเปิดเผย และอีกความเป็นไปหนึ่ง คือ สนช. ได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจให้ไม่เห็นชอบทั้ง 7 คน 


ภายหลังการลงมติของ สนช. ได้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาว่า จะเปิดเผยรายงานการประชุมครั้งดังกล่าวต่อสาธารณะหรือไม่ ท้ายสุดได้ข้อสรุป ออกมาว่า จะไม่เปิดเผยรายงานบันทึกการประชุมในวาระดังกล่าว

 
เห็นชอบครั้งที่ 2 – ปิดห้องประชุมลับเลือก กกต. 

 เมื่อถึงวันเปิดรับสมัคร กกต. รอบใหม่ ในวันที่ 26 มีนาคม - 9 เมษายน 2561 ครั้งนี้มีผู้ลงสมัครจำนวน 33 คน เมื่อคัดเลือกได้ผู้ผ่านเข้ารอบ 7 คนสุดท้าย ก็เข้าสู่การประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบของ สนช. ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ในครั้งนี้ พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ ประธานคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบคุณสมบัติฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมขอใช้วิธีการประชุมลับ ซึ่งที่ประชุม สนช. ไม่มีใครคัดค้าน

 ด้าน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. จึงขอให้ยุติการถ่ายทอดสด ปิดกล้องวงจรภายในสภา ให้สมาชิกงดใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด และเชิญผู้สื่อข่าวออกนอกห้องประชุม สัญญาณการถ่ายทอดสดกลับมาอีกครั้ง เวลา 13.15 น. นับเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ในการพิจารณาและอภิปรายกันโดยลับ ผลปรากฏว่าที่ประชุม สนช. เห็นชอบผู้สมัคร กกต. จำนวน 5 คน และไม่เห็นชอบ จำนวน 2 คน  

ผลการลงคะแนนที่ออกมา เป็นดังนี้

1) สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ คะแนนเห็นชอบ 178 เสียง ไม่เห็นชอบ 20 เสียง งดออกเสียง 3 คน

2 ) อิทธิพร บุญประคอง คะแนนเห็นชอบ 186 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 5 คน

3) ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย คะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 5 คน

4) ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี คะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 11 เสียง งดออกเสียง 6 คน

5) ปกรณ์ มหรรณพ คะแนนเห็นชอบ 185 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 6 คน

6) สมชาย ชาญณรงค์กุล คะแนนเห็นชอบ 3 เสียง ไม่เห็นชอบ 193 เสียง งดออกเสียง 5 คน

7) พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า คะแนนเห็นชอบ 28 เสียง ไม่เห็นชอบ 168 เสียง งดออกเสียง 5 คน



จะสังเกตได้ว่า ผู้สมัครที่มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสองคน คือ ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และปกรณ์ มหรรณพ เคยถูก สนช. ลงมติไม่เห็นชอบไปในรอบแรก แต่ก็ยังกลับมาเป็นผู้เข้ารับการพิจารณาในรอบที่สองได้ และในรอบที่สองนี้ สนช. ก็ลงมติไปในทางตรงกันข้ามกับรอบแรกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ทั้งๆ ที่ก็เป็นบุคคลคนเดิม

 เมื่อยังได้ กกต. ไม่ครบ 7 คน จึงต้องมีการสรรหาอีกเป็นรอบที่สามครั้ง ในวันที่ 5 ตุลาคม 2561 มีการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม จำนวน 14 คน ก่อนที่ประชุมจะมีมติเลือก เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ฐิติเชฏฐ์  นุชนาฏ ทนายความ เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. เพิ่มเติม



เห็นชอบครั้งที่ 3 - ได้ กกต. ครบ 7 คน ตามรัฐธรรมนูญ

กระทั่งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 สนช. มีมติเห็นชอบ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ ทนายความ ด้วยคะแนนเสียง 148 ต่อ 28 งดออกเสียง 8 เสียง และคะแนนเสียง 149 ต่อ 27 งดออกเสียง 8 เสียง ตามลำดับ ทำให้ได้ กกต. ครบ 7 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยที่การประชุมในครั้งเป็นการประชุมลับเช่นเดียวกัน

กกต. ถูกแทรกแซงด้วยกลไก คสช.

 เนื่องจาก กกต. เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงมากต่อการจัดการเลือกตั้ง และยังถืออำนาจตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมทั้งดูแลไม่ให้เกิดการทุจริตในระหว่างการเลือกตั้ง ซึ่งหากใช้อำนาจอย่างไม่เป็นกลางก็จะก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองได้ ปรากฏว่า กว่าจะได้มาซึ่ง กกต. ชุดนี้ คสช. ซึ่งถืออำนาจสูงสุดอยู่ก็ได้มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมาก ดังนี้

หนึ่ง กรธ. ร่างกฎหมายใหม่ เพิ่มอำนาจ กกต. จัดการนักการเมือง

 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 องค์กรอิสระมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และมีอำนาจให้คุณให้โทษพรรคการเมืองและนักการเมืองเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญโดย “มีชัย ฤชุพันธ์” คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บุคคลที่  คสช. ให้ความไว้วางใจและแต่งตั้งมากับมือ

หน้าที่ของ กรธ. นอกจากจะร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว  กรธ. ยังวางบทบาทของตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกว่า ให้ตัวเองเป็นผู้จัดทำ 'กฎหมายลูก' หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสิบฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ พ.ร.ป. กกต. 

กฎหมายลูกที่ กรธ. เป็นคนร่างขึ้น ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวน กกต. จาก 5 คน เป็น 7 คน และการกำหนดวิธีการสรรหาใหม่ โดยให้คณะกรรมการสรรหามาจากฝ่ายตุลาการ 2 คน ตัวแทนองค์กรอิสระ องค์กรละ 1 คน และตัวแทนภาคการเมือง 1 คน แต่เนื่องจากยังไม่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ตำแหน่งกรรมการสรรหาก็จึงยังอยู่ในมือของพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. อีกหนึ่งมือกฎหมายของ คสช. ทำหน้าที่แทนไปก่อนได้

สอง สนช. แก้กฎหมาย 'เซ็ตซีโร่' กกต. ชุดเก่า หา กกต. ชุดใหม่ 

เมื่อ กรธ. ร่างกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ สนช. ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เป็นผู้พิจารณากฎหมาย อีกทั้ง สนช. ยังมีอำนาจในการแก้ไขกฎหมายที่ กรธ. เป็นคนเสนอมาได้อีกด้วย

เมื่อ สนช. รับกฎหมาย กกต. จาก กรธ. มาพิจารณาจึงมีการแก้ไขบางประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ "เซ็ตซีโร่" ให้กรรมการ กกต. ชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง ซึ่ง พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว อธิบายว่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ กกต. มากขึ้น คุณสมบัติจึงเข้มข้นตามมาด้วย จึงควรเริ่มดำเนินการเลยเพื่อให้ได้ กกต. ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่

 นอกจากนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาทำงานแบบปลาสองน้ำ รวมทั้งการเพิ่มจำนวนกรรมการ กกต. จาก 5 มาเป็น 7 คน ทำให้โครงสร้าง กกต. เปลี่ยนไป



 สาม สนช. ลงมติไม่เห็นชอบ ผู้สมัคร กกต. ครั้งแรก – ไม่เห็นชอบ 2 คน ในครั้งที่สอง
22 กุมภาพันธ์ 2561 สนช. ในการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบผู้สมัคร กกต. ในครั้งแรก ทั้ง 7 คน แต่ปรากฏว่า สนช. มีมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อแม้แต่คนเดียว และในครั้งที่ 2 วันที่ 12 กรกฎาคม 2561 สนช. ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบผ่าน กกต. 5 คน แต่ไม่ให้ความเห็นชอบผู้สมัครอีก 2 คน เท่ากับว่า ผู้จะมาทำหน้าที่ กกต. นั้น ถูกกลั่นกรองเป็นอย่างดี ผ่านการประชุมที่ปิดลับโดยกลุ่มคนของ คสช. เรียบร้อยแล้ว

สี่ คสช. ใช้ ม.44 ปลด กกต. หลังวิจารณ์กรณีเลื่อนเลือกตั้ง  

20 มีนาคม 2561 หัวหน้า คสช. ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 4/2561 สั่งให้ สมชัย ศรีสุทธิยากร หยุดปฏิบัติหน้าที่กรรมการการเลือกตั้ง

คำสั่งดังกล่าวระบุว่า มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในกรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการและกําหนดการการเลือกตั้ง และสมชัยสมัครเข้าเป็นเลขาธิการ กกต. ชุดใหม่ โดยไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งก่อน ซึ่งถือเป็นการกระทําที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และยังถือโอกาสในการออกคำสั่งครั้งนี้แถมข้อกำหนดด้วยว่า หากกรรมการที่เหลืออยู่อีกสี่คนอายุครบเจ็ดสิบปี ก็ให้อยู่ในตำแหน่งไปก่อนจนกว่าจะได้ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่แทน

ห้า ขึ้นเงินเดือนและจ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้กับ กกต.

 27 กันยายน 2561 สนช. ได้ผ่านกฎหมายการขึ้นเงินเดือนกับ 3 องค์กร ได้แก่ ศาล รัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และอัยการสูงสุด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี กกต. ด้วย นอกจากนี้ยังกำหนดให้ กกต. ได้รับเงินส่วนที่เพิ่มขึ้น “ย้อนหลัง” จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 

จากร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีผลให้
ประธาน กกต. จะได้รับเงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม 131,920บาทต่อเดือน

ส่วนกรรมการจะได้รับเงินเดือน 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวม 123,040 บาท

จากเดิมที่กฎหมายเก่าปี 2541 กำหนดให้ประธานในองค์กรอิสระได้รับเงินเดือน 74,420 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท รวมเป็นเงิน 119,920 บาทต่อเดือน

และกรรมการในองค์กรอิสระได้รับเงินเดือน 73,240 และเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมเป็น 115,740 บาทต่อเดือน

เท่ากับว่า ประธานในองค์กรอิสระได้รับเงินเดือนรวมเพิ่มจากเดิม 12,000 บาท และกรรมการในองค์กรอิสระได้รับเงินเดือนรวมเพิ่ม 7,300 บาท





อำนาจหน้าที่ กกต. ที่น่ากังวล หากไม่มีความเป็นกลาง



กว่าจะได้มาซึ่ง กกต. ก็ช่างยากเย็นแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการมี กกต. ก็คือความเป็น ‘อิสระ’ ปราศจากการครอบงำ เพื่อที่จะสามารถทำหน้าที่เป็น ‘คนกลาง’ ในสนามการเลือกตั้งได้ และหากดูจากอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ จะเห็นว่า กกต. มีอำนาจในการจับตาผู้สมัครอย่างเข้มข้น และเพิ่มอำนาจให้ กกต. สามมารถออกบทลงโทษด้วยการแจก 'ใบส้ม' หรือ การสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ชั่วคราว แต่ไม่เกิน 1 ปี ในกรณีที่ กกต. สงสัยว่า มีการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตฯ เป็นอำนาจใหม่ที่เด็ดขาดของ กกต. ซึ่งหากใช้อำนาจอย่างไม่เป็นกลางจะก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองอย่างมาก เพราะเพียงแค่สงสัยว่ามีการกระทำความผิด กกต. ก็อาจเขี่ยผู้สมัครออกจากสนามการเลือกตั้งครั้งนั้นได้

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไข 8 ข้อที่ทำให้ กกต. สามารถยุบพรรคการเมืองได้ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 91 และ 92 ได้แก่

(1) ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด

(2) มีจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองน้อยกว่า 5,000 ติดต่อกันเป็นเวลา 90 วัน หลังจดทะเบียนพรรคการเมืองได้ 1 ปี

(3) มีจำนวนสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคน้อยกว่า 1 สาขา เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปี

(4) ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปี

(5) ไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกันหรือเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน

(6) มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

(7) พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ

ทั้งนี้ กกต. ยังมีอำนาจในการแจกใบแดง และใบเหลือง ซึ่งเป็นอำนาจเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.ป.กกต. เลือกตั้ง ปี 2550 ควบคู่กัน
โดย 'ใบเหลือง' ในภาษากฎหมายใช้คำว่า 'สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่'
และ 'ใบแดง' ในภาษากฎหมายใช้คำว่า "เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร"


อ่านเรื่อง อำนาจ กกต. เพิ่มเติม : https://ilaw.or.th/node/4623

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น