เพลงฉ่อยชาววัง

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

*** คู่มือดู ‪#‎ข้าบดินทร์‬ ***

กว่าที่ไทยจะสามารถยกเลิกข้อเสียเปรียบต่างชาติในเรื่อง"สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" อันเป็นผลพวงจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ก็ต้องยอมเสียอะไรต่อมิอะไรมากมาย
โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีความพยายามเจรจาเพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอังกฤษ โดยเอ็ดเวิร์ด เอช. สโตรเบล ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชาวอเมริกัน เสนอให้ไทยแลกหัวเมืองมลายู พร้อมกับขอกู้เงิน 4 ล้านปอนด์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปสร้างทางรถไฟสายใต้ โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451 โดยรัฐบาลไทยยอมยกไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ตลอดจนเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ ฝ่ายอังกฤษให้คนในบังคับตนที่ลงทะเบียนไว้กับกงสุลก่อนหน้านี้ขึ้นกับศาลต่างประเทศ และให้คนในบังคับหลังทำสนธิสัญญาฉบับนี้ขึ้นกับศาลไทย โดยมีที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมพิจารณาคดี แต่ศาลกงสุลยังมีอำนาจนำคดีไปพิจารณาได้
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติ รัฐบาลสยามพยายามเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมในด้านสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและภาษีศุลกากร ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีเงื่อนไขว่าสยามจะต้องบังคับใช้ประมวลกฎหมายตามแบบสมัยใหม่ และบางประเทศได้ขอสิทธิพิเศษเพิ่มเติมอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ภายใน พ.ศ. 2470 ประเทศต่าง ๆ นับสิบประเทศก็ยินยอมลงนามแก้ไขสนธิสัญญาดังกล่าว
สรุปความแตกต่างของ2สนธิสัญญา
- สนธิสัญญาเบอร์นี เป็นสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่3 ซึ่งไทย "ได้เปรียบ" จากสนธิสัญญานี้มาก เนื่องจากเรามีการเก็บภาษีตามความกว้างของปากเรือ เจ้าพนักงานของไทยสามารถลงไปตรวจเรือได้ อังกฤษต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยและขึ้นศาลไทย พ่อค้าไทยและอังกฤษทำการกันได้เลยไม่ต้องผ่านราชการ
- สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เป็นสัญญาที่ไทย ซึ่งคล้ายกับที่อังกฤษทำกับจีน เสียประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นอกจากนั้นยกเลิกการเก็บภาษีตามความกว้างของเรือหันไปเก็บตามอัตราที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในแต่ละด้าน และเป็นสัญญาที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ก็จำเป็นที่ต้องทำ โดยเกิดขึ้นในสมัยร.4 เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เป็นผู้แทนรัฐบาลอังกฤษเข้ามาทำสัญญา

---สนธิสัญญาเบาว์ริง---
หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยาม (อังกฤษ: Treaty of Friendship and Commerce between the British Empire and the Kingdom of Siam) หรือบนปกสมุดไทย ใช้ชื่อว่า หนังสือสัญญาเซอยอนโบวริง หรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง (อังกฤษ: Bowring Treaty)
เป็นสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 โดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ โดยการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่ เพิ่มเติมจากสนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาฉบับก่อนหน้าซึ่งได้รับการลงนามระหว่างสยามและสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2369
สนธิสัญญาดังกล่าวอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรีในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในอดีตการค้าของชาวตะวันตกได้รับการจัดเก็บภาษีอย่างหนัก สนธิสัญญาดังกล่าวยังอนุญาตให้จัดตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพมหานครและรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถถือครองที่ดินในสยามได้
***เบื้องหลังการทำสัญญานี้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2393 มีพระราชปณิธานช่วยเหลือราษฎรด้านความเป็นอยู่ โดยมีพระราชดำริแตกต่างจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐา หลายอย่าง โดยทรงเห็นว่าการเปิดให้ค้าข้าวกับต่างประเทศได้อย่างเสรีจะสร้างประโยชน์แก่บ้านเมืองมหาศาล จะทำให้ข้าวราคาสูงขึ้น เพราะมีความต้องการซื้อข้าวจากต่างชาติ ชาวนาก็จะมีเงินมากขึ้น ข้าวจะกลายเป็นสินค้าส่งออกของไทย สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลเช่นกัน ตลอดจนทรงเห็นว่านโยบาย "ปิดข้าว" สร้างรายได้ให้แก่คนส่วนน้อย ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
"แต่ก่อนในหลวงห้ามปิดเข้า [ข้าว] ไว้ไม่ให้เอาออกไปขายนอกประเทศ ยอมให้เอาไป แต่ภอเปนสเบียง คนทั้งปวงที่มิใช่ชาวนาแลพ่อค้าเรือต่างประเทศก็มีความสบาย ด้วยเข้าถูก [ข้าวมีราคาถูก] แต่ชาวนาไม่ชอบใจ เพราะขายเข้าได้น้อย ไม่ภอกิน ต้องทิ้งที่นาไปหากินอย่างอื่น ถึงพ่อค้าก็ไม่ชอบใจ ด้วยอยากจะขายเข้าออกไปนอกประเทศ ต้องลักลอบเอาไป ..."
การที่รัฐบาลไทยไม่ยอมแก้ไขหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขายกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดความตึงเครียดใน พ.ศ. 2393 มิชชันนารีทั้งหลายถึงกับเกรงว่าจะเกิดสงครามขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงอันตรายจากการที่ไทยไม่ยอมประนีประนอมกับชาติตะวันตก โดยทรงดูจากจีนและพม่าที่ตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ตลอดจนทรงตระหนักถึงความจำเป็นของวิทยาการสมัยใหม่สำหรับอนาคตของชาติ จึงได้ทรงประกาศเจตนาว่ายินดีจะทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเปรสได้นำจดหมายของเรเวอเรนด์ ยอนเทเลอโยนส์ ลงพิมพ์ มีใจความว่า
"เจ้าฟ้ามงกุฎได้ตรัสอย่างชัดเจน ว่าทางการที่ปฏิบัติต่อคณะทูตเมื่อปีก่อนนั้นทั้งหมดเป็นไปด้วยความเห็นผิดเป็นชอบของคน ๆ เดียว และถ้าคณะทูตกลับมาอีก ก็คงจะได้รับความต้อนรับโดยเมตตา ไม่ต้องระแวงว่าความประสงค์อันสำคัญยิ่งของคณะทูตจะไม่สำเร็จดังปรารถนา..."
สนธิสัญญาเบาว์ริงนี้มีเนื้อหาคล้ายกับสนธิสัญญานานกิงซึ่งจีนลงนามร่วมกับอังกฤษภายหลังสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง ใน พ.ศ. 2385 และก่อนหน้าสนธิสัญญาเบาว์ริงเพียงหนึ่งปี (พ.ศ. 2397) สหรัฐอเมริกาก็บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศด้วยการลงนามในสนธิสัญญาคะนะงะวะโดยใช้สนธิสัญญานานกิงเป็นต้นแบบ สนธิสัญญาเบาว์ริงถูกเรียกว่าเป็น "สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม" หรือ "สนธิสัญญาที่เสียเปรียบ" เนื่องจากสยามไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะเจรจาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเกรงกลัวในแสงยานุภาพทางทหารของอังกฤษในสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งได้ทำให้รู้สึกท้อถอยที่จะป้องกันมิให้มีการค้ากับชาติตะวันตก โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ระบุว่า ความต้องการสำคัญของอังกฤษก็คือการเข้ามาค้าฝิ่นได้อย่างเสรีในสยามและไม่ต้องเสียภาษี และอังกฤษพร้อมทำสงครามกับสยามอยู่แล้วหากการเจรจาไม่ประสบผล

สนธิสัญญาเบอร์นี (อังกฤษ: Burney Treaty) คือ สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ฉบับแรก ที่ไทยได้ทำกับประเทศตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เฮนรี เบอร์นี ได้เป็นทูตอังกฤษเดินทางเข้ามายังประเทศไทย พ.ศ. 2368 เพื่อเจรจาปัญหาทางการเมืองและการค้ากับไทย ในด้านการค้า รัฐบาลอังกฤษมีความประสงค์ที่จะขอเปิดสัมพันธไมตรีทางการค้ากับไทย และขอความสะดวกในการในการค้าได้โดยเสรี การเจรจาได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 และมีการลงนามในสนธิสัญญากัน
สนธิสัญญาเบอร์นี ประกอบไปด้วยสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีรวม 14 ข้อ และมีสนธิสัญญาทางการพาณิชย์แยกออกมาอีกฉบับหนึ่งรวม 6 ข้อ ที่เกี่ยวกับการค้า ได้แก่ ข้อ 5 ให้สิทธิพ่อค้าทั้งสองฝ่ายค้าขายตามเมืองต่าง ๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเสรีตามกฎหมาย ข้อ 6 ให้พ่อค้าทั้งสองฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมของอีกฝ่าย และข้อ 7 ให้สิทธิแก่พ่อค้าจะขอตั้งห้าง เรือนและเช่าที่โรงเรือนเก็บสินค้าในประเทศอีกฝ่ายหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรมการเมือง








เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) (พ.ศ. 2320-2392) สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)
"เจ้าพระยาบดินทรเดชา" เป็นราชทินนามพิเศษ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานราชทินนามนี้มีแต่ท่านเพียงผู้เดียวเท่านั้น



สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) และเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2331เดิมชื่อ ดิศ เป็นบุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)กับเจ้าคุณนวล (เจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล) รับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รับพระราชทานตำแหน่งเป็นนายสุดจินดา หุ้มแพรมหาดเล็ก ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามลำดับ จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์คนทั่วไปนิยมเรียกว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่" (เรียกสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) น้องชายของท่านว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย")

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ มีหน้าที่สำเร็จราชการแผ่นดิน ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ใช้ตราสุริยมณฑลเทพบุตรชักรถ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งตระกูลบุนนาค ท่านเป็นผู้สร้างวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้ถึงแก่พิราลัยในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2398 ขณะอายุ 67 ปี




เสนอยูเนสโกยกย่อง "ช่วง บุนนาค"

ดร.ลินดา เกณฑ์มา ว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ (มบส.) เปิดเผยว่า มบส.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อเสนอชื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เนื่องจากเป็นผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระหว่างที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังนั้น ในโอกาสที่ถึงวาระครบ 150 ปีของการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ.2561 นั้น จึงมีการประสานงานต่อยูเนสโก ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุคคลสำคัญของโลก

ศ.ดร.ปิยนาถ บุนนาค ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน ประธานคณะกรรมการดำเนินการดำเนินงานเพื่อเสนอชื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)เป็นบุคคลสำคัญของโลก กล่าวว่า จากการศึกษาและค้นคว้า ได้สรุปผลงานของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่า ในระหว่างที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้ทำการให้การสืบสันติวงศ์เป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีความขัดแย้งใดๆเกิดขึ้น
อันจะทำให้เกิดความแทรกแซงจากต่างชาติได้ ทั้งยังได้ปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์ราชบัลลังก์ ถวายความจงรักภักดีแด่พระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของท่าน สำหรับผลงานมีหลายด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการศึกษาแบบตะวันตกและการเตรียมพร้อมในการบริหารจัดการบ้านเมือง เป็นต้น.


**************************************************************************




นายห้างหันแตร ในเรื่อง #ข้าบดินทร์ มีตัวตนจริงและมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ตอนต้น

มีชื่อว่า โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (อังกฤษ: Robert Hunter) พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสก๊อต เป็นชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาตั้งร้านค้าในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2368 ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ทูลเกล้าฯ ถวายปืนคาบศิลา จำนวน 1,000 กระบอก ขณะที่ไทยมีกรณีพิพาทกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์
คนไทยนิยมเรียกชื่อนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ว่า นายหันแตรเรียกห้างของนายฮันเตอร์ว่า ห้างหันแตร พ่อค้าต่างชาติเรียกห้างของนายฮันเตอร์ว่า โรงสินค้าอังกฤษ (The British Factory) นับได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในเมืองไทย ซึ่งนับได้ว่านายฮันเตอร์เป็นบุคคลที่นำสินค้าหรือความแปลกใหม่หลายอย่างที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อน เข้ามาสู่ประเทศ

นอกจากนี้แล้ว นายฮันเตอร์ยังได้เป็นบุคคลที่นำตัวอิน-จันแฝดสยามชาวไทยเดินไปแสดงตัวที่สหรัฐอเมริกา จนทำให้สากลได้รู้จักกับแฝดสยามเป็นครั้งแรก และทั้งคู่ก็ได้กลายมามีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาต่อมา

โรเบิร์ต ฮันเตอร์ นับได้ว่าเป็นชาวตะวันตกที่สามารถพูดภาษาไทยและเข้าใจคนไทยได้เป็นอย่างดี และมีความรู้จักกับขุนนางในราชสำนักคนสำคัญหลายคน ชีวิตส่วนตัวได้สมรสกับหญิงไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่บ้านกุฎีจีน มีชื่อว่า แองเจลิน่า โดยมีชื่อภาษาไทยว่าทรัพย์ เชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์รุ่นที่สี่ เรียกกันอย่างยกย่องว่า ท่านผู้หญิงทรัพย์ เธอเป็นผู้นำชุมชนกระดีจีน(กุฎีจีน)[1] โดยฮันเตอร์ตั้งใจไว้ว่าจะใช้ชีวิตทั้งหมดอยู่ในประเทศไทย

แต่นายฮันเตอร์มีพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เช่น เคยเสนอขายพรมให้แก่ราชสำนัก โดยที่ไม่ได้สั่ง แต่ราชสำนักไม่ซื้อก็เกิดความไม่พอใจ หรือมักลักลอบค้าฝิ่นจากอังกฤษโดยซ่อนมากับสินค้าประเภทอื่น ทั้งที่กฎหมายไทยในเวลานั้นประกาศห้ามสูบฝิ่น เพื่อส่งเสริมศีลธรรมที่ดีงาม หลายครั้งเมื่อถูกตรวจพบ นายฮันเตอร์ก็มักอ้างเพื่อให้เห็นแก่ความสัมพันธ์ระหว่างชาติ หรือไม่ก็ขู่ว่าจะนำเรื่องไปฟ้องต่อทางการอังกฤษให้นำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทยเป็นต้

ต่อมา สหายชาวต่างชาติของนายฮันเตอร์คนหนึ่งได้ทดลองยิงปืนคาบศิลา ในบริเวณที่วัด พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ไม่พอใจ ได้เข้าไปห้ามปรามแต่ก็ไม่ฟัง พระสงฆ์จึงทำร้ายสหายของนายฮันเตอร์ด้วยการตีที่ศีรษะจนแตก ทางการไทยสอบสวน โดยมีองค์ประธานคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์) ผลการสอบสวนพบว่า พระสงฆ์ไทยผิด จึงโปรดฯ ให้ลงโทษด้วยการให้นั่งสมาธิกลางแดดครึ่งวัน ยังความไม่พอใจแก่นายฮันเตอร์เพราะต้องการให้ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต

ความสัมพันธ์ระหว่างนายฮันเตอร์กับทางการไทยขาดสะบั้นลง เมื่อทางไทยจะทำการรบกับโครชินไชน่า (เวียดนาม) นายฮันเตอร์ได้เสนอขายปืนคาบศิลาจำนวน 200 กระบอก และต้องการให้ทางไทยซื้อให้หมด ทั้งที่ทางการไทยต้องการเพียง 100 กระบอกเท่านั้น และยังยัดเยียดขายเรือกลไฟที่ขึ้นสนิมอีกลำหนึ่ง ที่ชื่อ เอ็กเพรส (Express) โดยเรือลำนี้แล่นมาจากเมืองท่าลิเวอร์พูลพร้อมกัปตันชื่อ พี.บราวน์ แม้คนไทยในเวลานั้นจะฮือฮาเพราะไม่เคยเห็น "เหล็กลอยน้ำได้" อย่างเช่นเรือกลไฟมาก่อน แต่นายฮันเตอร์ได้เสนอขายในราคา 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางไทยมองว่าเป็นการขายที่ไม่ชอบธรรม ประกอบกับพฤติกรรมของนายฮันเตอร์ในระยะหลังที่มักแสดงออกถึงการไม่แสดงความเคารพต่อไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ เช่น เมื่อขายเรือกลไฟไม่ได้ นายฮันเตอร์ได้ประกาศว่าจะนำไปขายให้โครชินไชน่าซึ่งเป็นคู่กรณีของไทยแทน จึงได้เนรเทศนายฮันเตอร์พร้อมกับภรรยาให้ออกนอกราชอาณาจักรและห้ามกลับเข้ามาอีกตลอดชีวิตไปในปี พ.ศ. 2387 โดยได้เดินทางไปที่สิงคโปร์ด้วยเรือเอ็กเพรสนี่เอง รวมระยะเวลาที่นายฮันเตอร์อยู่ในเมืองไทยทั้งหมด 18 ปี

แต่ก็ได้มีบันทึกโดยชาวตะวันตกด้วยกันเอง ที่บันทึกไว้ว่า นายฮันเตอร์ก็ยังได้กลับมาที่เมืองไทยมากกว่า 1 ครั้ง แต่เป็นการเข้ามาเพื่อสะสางสัมภาระของตนที่เหลืออยู่และจัดแจงธุระต่าง ๆ ก่อนที่จะจากไปโดยถาวรในที่สุด
**************************************************************************
เรื่องราวของเรือกำปั่นเหล็ก และเหตุที่หันแตรโดนเนรเทศ รวมทั้งเรื่องที่ไทยเกือบพิพาทกับอังกฤษ
นายห้างหันแตร หรือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ เป็นชาวอังกฤษเชื้อสายสก๊อต เดิมเป็นพ่อค้ามาตั้งห้างอยู่ที่สิงคโปร์ก่อน จากนั้นเข้ามาค้าขาย หลังจาก"หันตรี" หรือ เฮนรี่ เบอร์นี่ เข้ามาทำสัญญาพระราชไมตรี ในต้นรัชกาลที่ ๓
เมื่อนายห้างหันแตรเข้ามาบางกอกนั้น เป็นขณะที่ไทยกำลังบาดหมางอยู่กับเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์ นายห้างหันแตรได้ทูลเกล้าฯ ถวายปืนคาบศิลา ๑,๐๐๐ กระบอก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ‘หลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช’
ต่อมาได้มีเรื่องกับสยามเรื่องซื้อเรือรบ หันแตรรับว่าจะนำเรือรบมาขายให้ไทย ทว่าพอนำเข้ามาจริง เป็นเรือเก่าขึ้นสนิม ราคาถึง ๑,๒๐๐ ชั่ง ไทยก็ไม่ซื้อ ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ บันทึกไว้ว่า
“เจ้าพนักงานไม่ซื้อ หันแตรพูดหยาบช้าว่าในหลวงรับสั่ง ถ้าเจ้าพนักงานไม่ซื้อจะเอาเรือไปผูกไว้หน้าตำหนักน้ำ ทรงทราบก็ขัดเคืองให้ไล่หันแตรไปเสีย ไม่ให้อยู่ในบ้านเมือง หันแตรออกไป จึงพูดอวดว่า จะออกไปฟ้องต่อคอเวอนเมนต์อังกฤษ จะให้กำปั่นรบเข้ามาชำระความ”
หันแตรทำจริงๆ แล่นเรือหรือกำปั่นรบออกไปเมืองกัลกัตตา ขอให้อุปราชอังกฤษที่นั่นสั่งเรือรบเข้ามาตีเมืองบางกอก แต่ไม่สำเร็จ แม้เจ้าเมืองอังกฤษที่สิงคโปร์เมืองใหม่ ก็ตัดสินว่าไทยไม่ได้ผิดอะไร หันแตรจึงนำเรือรบไปขายให้ญวน แล้วกลับเข้ามาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็โดนขับไล่ออกไปอีก
ความประพฤติก้าวร้าวโอหังของหันแตรนั้น เป็นเหตุให้เมื่อ เซอร์ เจมส์ บรูค เข้ามาขอแก้ไขทำหนังสือสัญญาใหม่ ใน พ.ศ.๒๓๙๓ ในรัชกาลที่ ๓ นั้นเอง ฝ่ายไทยได้นำความประพฤติของหันแตรอ้างต่อฝ่ายอังกฤษ ขอยกเลิกสัญญาข้อ (๒) ที่ฝ่ายอังกฤษเสนอมา
สัญญาข้อ ๒ นั้นมีว่า (ในวงเล็บผู้เล่าเติมเอง)
“ข้อ ๒. ฝ่ายคนอันอยู่ใต้บังคับอังกฤษ (ไทย) ยอมจะให้มา แลมีที่อยู่ แลค้าขายในเมืองไทย แล (ใน) หัวเมืองที่เป็นขอบขัณฑเสมาแห่งท่านผู้ครองกรุงเทพฯ แล้ว (ถ้า) พวกประเทศอื่นได้คุณแลโอกาศในการซื้อขาย แลการอื่นๆ เป็นคุณประการใด จะ (ต้อง) ได้แก่คนอันอยู่ใต้บังคับอังกฤษเหมือนกัน
อนึ่งถ้าคนอันอยู่ใต้บังคับกรุงเทพฯ จะไปมีที่อยู่ค้าขายในแดนอังกฤษทั่วเขตรแดนก็ยอมให้ทำได้ แล้ว (ถ้า) คนประเทศอื่นๆ ได้คุณแลโอกาศในการซื้อขายและการอื่น เปนคุณประการใด ก็จะได้แก่คนไทยเหล่านั้นเหมือนกัน”
ฝ่ายไทยขอยกเลิก ข้อ ๒ นี้ โดยอ้างดังนี้
“ความข้อ ๒ นี้ เสนาบดีปฤกษาพร้อมกัน เห็นว่าคนไทยที่เป็นพ่อค้าพานิช จะไปตั้งซื้อขายในอังกฤษหามีไม่ มีแต่คนโหยกเหยก ละญาติพี่น้อง ทิ้งภูมิลำเนาไปเที่ยวอยู่ในเขตรแดนอังกฤษ คนดังนี้เราหาเอาเปนธุระไม่ เถิงจะไปเที่ยวอยู่บ้านใดเมืองใด กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองประการใดก็ให้กระทำโทษกันตามอาญากฎหมายบ้านเมืองนั้นเถิด
ซึ่งคนอยู่ใต้บังคับอังกฤษจะเข้ามาอยู่ค้าขายในแดนเมืองไทย (และ) หัวเมืองซึ่งเปนขอบขัณฑเสมาให้ได้เหมือนคนประเทศอื่นๆ นั้น คนประเทศอื่นเข้ามาตั้งทำมาหากินอยู่ในขอบขัณฑเสมาช้านานหลายชั่วอายุคนมาแล้ว จนมีภรรยามีบุตร มีหลาน เกี่ยวพันกันทุกชาติทุกภาษา เช่นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเหมือนกัน จะทำเรือกสวนไร่นาทำมาหากินประการใดก็กระทำได้ ถ้าคนเหล่านั้นกระทำผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายก็กระทำโทษได้เหมือนคนไทย
แลคนชาติอังกฤษแต่บุราณมา ก็ยังไม่เคยเข้ามาอยู่ในแดนกรุง เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีออกฉศก มิศหันแตรเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ ณ กรุงฯ ก่อนลูกค้าอังกฤษทั้งปวง เมื่อแรกเข้ามาก็ซื้อขายกับลูกค้าพานิชเป็นปกติ หามีถ้อยความเกี่ยวข้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ต้องพระราชประสงค์ปืนใหญ่น้อย ก็อุส่าห์หาเข้ามาจำหน่าย ก็ได้ซื้อหาไว้เปนกำลังสำหรับบ้านเมือง มิศหันแตรเข้ามาอยู่ที่กรุงฯหลายปี จนได้ฝรั่งชาติพุดเกดที่กรุงฯ เปนภรรยาเกิดบุตรใหญ่แล้ว มิศหันแตรขอลาให้บุตรออกไปเรียนหนังสือที่เมืองวิลาศ เจ้าพนักงานก็ตามใจมิได้ขัดขวาง มิศหันแตรรู้อย่างธรรมเนียม ณ กรุงฯทุกสิ่งทุกประการ
ครั้นนานมาคุ้นเคยกันเข้ากับอ้ายพวกจีนคนร้าย ก็เอาฝิ่นซึ่งเปนของต้องห้ามเข้ามาลักลอบซื้อขายกัน แลจำหน่ายสิ่งของใดๆ ไปกับลูกค้าก็เปนความเกี่ยวข้องกันเนืองๆ พูดจาขู่ข่มข่มเหงลูกค้าหลายอย่าง
แล้วมิศหันแตรพูดอวดว่ากำปั่นไฟใช้ได้รวดเร็วคล่องแคล่วนัก จึงเอากำปั่นไฟเข้ามาลำหนึ่ง ติดไฟขึ้นใช้กำปั่นให้ขุนนางแลราษฎรดูก็ไม่เห็นรวดเร็ว
พอทัด (เทียม) กันกับเรือ ๙ พาย ๑๐ พาย ไม่เปนอัศจรรย์นัก กำปั่นลำนั้นก็เปนกำปั่นเก่าผุรั่วอยู่บ้างแล้ว จะขอขายให้ในหลวงเปนราคา ๑,๒๐๐ ชั่ง เจ้าพนักงานไม่ซื้อไว้ก็โกรธ ว่ากล่าวเหลือเกินต่อเจ้าพนักงานต่างๆ ทำให้ผิดสัญญาซึ่งกปิตัน หันตรี ทรนี ทำไว้ เสนาบดีเห็นพร้อมกันว่าหันแตรพูดเหลือเกินก็ให้ขับไปเสียไม่ให้อยู่ในบ้านในเมือง แลมิศเฮพวกเดียวกันกับมิศหันแตร ไม่ได้ทำถ้อยความสิ่งไรให้เกี่ยวข้องกับการบ้านเมืองก็ให้ได้อยู่ซื้อขายมาจนทุกวันนี้
เราเห็นว่าแต่หันแตรเข้ามาอยู่คนเดียวเท่านี้ ยังองอาจพูดจาเหลือเกิน ถ้าอังกฤษจะเข้ามาอยู่ ณ กรุงฯ มากแล้ว จะเที่ยวไปอยู่ในขอบขันฑเสมาแห่งใดๆ ก็จะมีความทะเลาะวิวาทจนถึงทุบตีกัน ฝ่ายอังกฤษฤาฝ่ายไทยล้มตายลงฝ่ายหนึ่ง ก็จะเปนความใหญ่ขึ้น เห็นการดังนี้ (แล้ว) ที่จะให้อังกฤษเข้ามาอยู่มากนักไม่ได้ บ้านเมืองจะไม่อยู่เย็นเปนสุข ทั้งจะทำให้ทางไมตรีมัวหมองไป ความข้อ ๒ นี้ ขอเสียเถิด เราจะยอมให้ไม่ได้”
ป.ล. ‘มิศ’ ก็คือย่อจากคำว่า ‘มิสเตอร์’
‘ฝรั่งพุทเกด’ คือ ฝรั่งโปรตุเกศ ว่าภรรยาของหันแตร เป็นเชื้อสายโปรตุเกศ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (พอลคอน) สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โน้น นับถือศาสนาแคทอลิค ชื่อฝรั่งว่าแองเจลิน่า (ชื่อนักบุญ) ชื่อไทยว่า ทรัพย์

นี่คงตอบคำถามในใจหลายคนว่าทำไมตัวเอกทั้งสองในเรื่อง#‎ข้าบดินทร์‬ต้องเป็น ‪#‎เจมส์มาร์‬ และ ‪#‎แมทภีรนีย์‬ 









-------------------------------------------------------------------------------------------------
อะไรคือ "ตะพุ่นหญ้าช้าง" ทำไมคุณพี่เหม #ข้าบดินทร์ กับ อ้ายเสมา ‪#‎ขุนศึก‬จึงต้องถูกลงโทษตำแหน่งนี้เหมือนกัน
ทั้งนี้ เพราะโทษทัณฑ์ในสมัยโบราณที่หนักหนาสาหัสขึ้นไปอีกชั้นแต่ไม่ถึงขั้นถูกประหารชีวิตก็คือถูกลงพระราชอาญาให้ไปเป็น "ตะพุ่นหญ้าช้าง" อย่างไม่กำหนดเวลา คือเป็นคนหาหญ้ามาเลี้ยงช้างนั่นเอง
ในสมัยโบราณช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่ใช้ในยามเกิดศึกสงคราม มีทั้งช้างศึกซึ่งถูกฝึกให้สู้รบโดยตรงและช้างที่ใช้เป็นพาหนะบรรทุกเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์หรือให้ชักลากปืนใหญ่ ดังนั้นจึงต้องใช้ช้างเป็นจำนวนมากในกองทัพ ซึ่งภาระการเลี้ยงดูช้างจึงเป็นงานที่หนักเอาการเพราะช้างแต่ละตัวต้องการหญ้าและพืชผักผลไม้ในแต่ละวันจำนวนมาก
ภาระนี้จึงตกเป็นของ "ตะพุ่นหญ้าช้าง" ซึ่งต้องไปหาหญ้าและพืชผักมาให้ช้างกิน ช้างตัวหนึ่งจะมีตะพุ่นหญ้าช้างคอยดูแลรับผิดชอบตั้งแต่ 2-3 คนขึ้นไป
ตะพุ่นหญ้าช้างไม่มีรายได้ใด ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ข้าวปลาอาหารการกินก็ต้องไปเอาจากที่บ้านมากินเอง การทำงานออกไปเกี่ยวหญ้าหาพืชผักต้องเริ่มต้นตั้งแต่เช้า ได้หญ้าได้พืชผักอาหารของช้างมาแล้วก็ต้องแบกหามกลับมาที่โรงช้าง เวลาควาญนำช้างออกไปอาบน้ำที่แม่น้ำตะพุ่นก็ต้องตามไปอาบน้ำให้ช้างด้วย เมื่อช้างกลับเข้าโรงแล้วจึงจะเสร็จสิ้นภาระในวันนั้น
การถูกลงโทษให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้างจะเรียกว่าเป็นโทษหนักระดับปานกลางคงพอได้ เพราะไม่ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนแม้จะมีอิสระสามารถออกไปสู่โลกภายนอกได้ เวลาไปเกี่ยวหญ้าหาอาหารให้ช้าง แต่จะฉวยโอกาสหนีไปอยู่กับลูกเมียที่บ้านชั่วพักชั่วครู่ไม่ได้ เนื่องจากมีผู้คุมไปคอยกำกับดูแล และต้องทำงานไม่หยุดมือตลอดเวลา ถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องรักษาไปตามยถากรรม ยิ่งคนที่ถูกพิพากษาลงโทษให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้างตลอดชีวิต ถือว่าเป็นบาปเคราะห์อันสาหัสทีเดียว เพราะกลายเป็นชีวิตที่ไร้ค่าตราบสิ้นลมหายใจ
ทั้งนี้ ตะพุ่นหญ้าช้าง หรือ คนหาหญ้าให้ช้างกิน เป็นโทษสำหรับให้ผู้กระทำความผิดทำงานหนักตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษ แต่กำหนดระยะเวลาการถูกลงโทษในสมัยโบราณไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนว่าจะได้รับโทษนานเท่าไหร่ เช่น กี่เดือน กี่ปีจึงจะพ้นโทษ หากได้รับโทษก็เท่ากับต้องรับโทษไปเรื่อย ๆ เว้นแต่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานอภัยโทษให้เท่านั้น
เพราะฉะนั้นผู้ที่ถูกลงโทษให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้างจึงต้องรับโทษนานหลายปีจนกว่าผู้คุมและผู้มีอำนาจสูงขึ้นไปจะเกิดเมตตา เห็นว่าได้รับโทษน่าจะพอเพียงแล้วจึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษให้






-- ว่าด้วยตำราการจับช้าง และสะเดียง --
ชาวส่วยเป็นกลุ่มคนเดียวที่ยังคงมีตำราคชศาสตร์และการประกอบพิธีกรรมในการคล้องช้างอย่างมีระเบียบแบบแผนที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ชาวส่วยจะออกไปจับช้างในป่าด้วยการคล้องช้าง เรียกกันว่า “โพนช้าง” โดยแบ่งหน้าที่เป็น มะหรือจา มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยควาญ เป็นผู้ถือท้ายหรือผู้ที่ช้างต่อ
หมอสะเดียง เป็นผู้ชำนาญในการควบคุมช้าง มีประสบการณ์ในการจับช้างป่า จะขี่ช้างอยู่ตรงคอ
หมอสะดำ ทำหน้าที่ควาญ เรียกว่า ควาญเบื้องขวา มีฐานะสูงกว่าสะเดียง โดยสะดำต้องมีประสบการณ์เคยออกจับช้างป่า มาแล้วอย่างน้อย 11 เชือกขึ้นไป บางทีเรียกว่าหมอใหญ่
ครูบา เป็นหมอช้างใหญ่ เป็นหัวหน้าในกลุ่มย่อยหรือหมู่ช้างต่อ จะออกจับช้างป่าได้เมื่อได้รับอนุญาตจากครูบาใหญ่ บางครั้งครูบาออกจับช้างได้ตามลำพัง

**************************************************************************





"เสด็จฯ" ที่แม่บัวได้ไปถวายตัวในวังนั้น ก็คือ หม่อมไกรสร
หม่อมไกรสร เดิมคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ (26 ธันวาคม พ.ศ. 2334 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ทรงเป็นต้นราชสกุลพึ่งบุญ และ สกุลอนิรุทธเทวา

***พระประวัติ
หม่อมไกรสรเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ธิดาพระจักรีเมืองนครราชศรีธรรมราช พระองค์เจ้าไกรสรประสูติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2334 ตรงกับวันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้นสองค่ำ ปีกุน สัมฤทธิศก จ.ศ. 1210 พระประวัติเมื่อทรงพระเยาวน์นั้น ก.ศ.ร. กุหลาบบันทึกไว้ว่า "พระองค์ท่านเปนจอมปราชญ์ จินตะกระวีบัณฑิตย์ ชาติ์ราชตระกูลสุริยวงศ์อันประเสริฐ" และจากวารสารภาษาอังกฤษที่ชื่อ Siam Repository กล่าวถึงความโดดเด่นโดยเฉพาะด้านการศาสนาและโหราศาสตร์ ว่า "ทรงมีความรู้ทางด้านพุทธศาสนาอย่างดีเยี่ยม เหนือกว่าพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ" ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 2 จึงทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นรักษรณเรศร กำกับกรมสังฆการี ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ทรงกำกับกรมวังและอธิบดีกรมพระคชบาลต่อจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอภัยทัต กรมหลวงเทพพลภักดิ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐา
นอกจากนี้หม่อมไกรสร เมื่อยังทรงเป็นกรมหมื่นรักษรณเรศรได้ทรงงานเคียงคู่กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และในฐานะพระปิตุลาหรือ "อา" ทรงงานรับใช้ราชการเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกือบตลอดรัชกาล โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมหลวงรักษ์รณเรศ และโปรดให้กำกับกรมวัง
ผลงานของหม่อมไกรสร ทรงมีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางทั้งในทางการตัดสินคดีความ กำกับกรมวัง ดูแลการจ่ายเบี้ยหวัดประจำปีของพระราชวงศ์และขุนนาง
ในปี พ.ศ. 2381 หม่อมไกรสรเป็นตุลาการชำระความคดีเจ้าจอมอิ่มกับพระสุริยภักดี ซึ่งแม้จำเลยทั้งสองคนจะไม่เคยพบกันคุยตัวต่อตัว แต่มีพ่อสื่อแม่ชักเป็นตัวกลางให้ทั้งสองคน แต่ก็ได้รับพิพากษาประหารชีวิตทั้งชายหญิง
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกเกี่ยวกับหม่อมไกรสร มีประเด็นคำพิพากษา คือ หม่อมไกรสรประพฤติกำเริบ ทำตนเทียมเจ้าในงานลอยกระทง เกลี้ยกล่อมเจ้านาย ขุนนางและซ่องสุมกองทหารรามัญไว้เป็นพวกพ้อง แต่ถูกสอบสวนว่าซ่องสุมผู้คนไว้มากเพื่อคิดกบฏหรือไม่ หม่อมไกรสรตอบปฏิเสธว่า "ไม่ได้คิดกบฏ" แต่เมื่อถามว่า หากเปลี่ยนแผ่นดินเมื่อไหร่ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร ตุลาการในสมัยนั้นจึงมีคำตัดสินออกมาส่วนหนึ่ง ว่า "...กรมหลวงรักษ์ณรเรศมีความผิด ต้องลดอิสริยศักดิ์สมญาเป็นหม่อม ตลอดทั้งวงศ์วาน..."
นอกจากนี้มูลเหตุอีกอย่างหนึ่งที่พระองค์เจ้าไกรสรถูกถอดอิสริยยศคือ ทรงเลี้ยงโขนผู้ชายไว้มากมาย บรรทมอยู่แต่กับพวกโขนละคร ไม่บรรทมกับพวกหม่อมห้ามในวังเลย รัชกาลที่ 3 มีรับสั่งให้เอาพวกโขนละครมาไต่สวน ได้ความสมกันว่า "...ทรงเป็นสวาทกับพวกละคร ไม่ถึงกับชำเรา แต่เอามือพวกละครและมือของพระองค์ท่านกำคุยหฐานของทั้งสองฝ่ายจนภาวธาตุเคลื่อน..."
หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 3 ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จ.ศ. 1210 ตรงกับวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391 รวมพระชันษา 56 ปี และเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้
สรุปเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่งของ หม่อมไกรสร หรือ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ 
-ก่อเกิดพระไพรีพินาศ
-เป็นเจ้านายองค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์
-เกี่ยวข้องเรื่องคำทำนายตอนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ที่ว่าจะสิ้นสุดลงในพระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 (เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งเสาหลักเมืองและดวงเมืองใหม่ และตั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าพระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์ ทางประวัติศาสตร์มักกล่าวไปทางแก้เคล็ดตามโหราศาสตร์ แต่มีความคิดเห็นว่าเพื่อป้องกันมิให้เมืองไทยต้องขาดพระมหากษัตริย์ หากองค์ใดองค์หนึ่งมีอันเป็นไป)
- การปรากฏเรื่องราวรักร่วมเพศในประวัติศาสตร์ไทย
- น้ำพระทัยของรัชกาลที่ 3พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงให้เห็นถึงความรักต่อบ้านเมือง โดยไม่คิดแก่พระองค์แต่อย่างใดมากกว่า ทั้งที่พระองค์สามารถตั้งองค์รัชทายาทสืบทอดราชสมบัติต่อไปได้ แต่พระองค์กลับไม่ทรงทำ
โดยทรงเลือกที่จะไม่แต่งตั้งเจ้าจอมท่านใดให้อยู่ในตำแหน่งพระมเหสี (ทรงมีเจ้าจอมราวๆห้าสิบกว่าคน) ดังนั้นพระโอรสพระธิดาพระองค์ท่านจึงได้รับพระอิสริยยศเพียงพระองค์เจ้าเท่านั้น ไม่มีสิทธิในการครองราชย์ต่อจากพระองค์
ขณะเดียวกันยังทรงประหารชีวิตกรมหลวงรักษ์รณเรศ(หม่อมไกรสร)ผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างที่สุด เพราะทรงเล็งเห็นว่าหากกรมหลวงรักษ์รณเรศ(หม่อมไกรสร)มีชีวิตต่อไปจะเกิดสงครามกลางเมืองได้ ท่ามกลางประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกจ้องจะหาเรื่องบั่นทอนยึดครองกรุงรัตนโกสินทร

(เพิ่มเติม)

เกล็ดเรื่องราวของ "หม่อมไกรสร" ที่เกี่ยวพันกับ ร.3 และ ร.4
เหตุเกิดในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นเหตุของเรื่องก็คือพระองค์เจ้าไกรสร พระโอรสรัชกาลที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว (แปลว่าเป็นโอรส ร.1 ที่เกิดจากเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว) ซึ่งถ้านับญาติก็ทรงเป็น พระปิตุลา หรือ ลุงของ ร.3 นั่นเอง แต่ว่าทั้งสองพระองค์มีพระชันษารุ่นราวคราวเดียวกัน และยังทรงงานร่วมกันมาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ 2 จนที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เลื่อนเป็น กรมหลวงรักษ์รณเรศ กำกับกรมวัง ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการศาล เบี้ยหวัดขุนนาง ถวายนิตยภัตสงฆ์(เงินเดือนพระ) แถมยังมีอำนาจในการตั้งขุนนางอีกด้วย ถือเป็นเจ้านายที่มีพาวเวอร์มั่กๆ ในยุคนั้น แถมเมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพ วังหน้าสวรรคต กรมหลวงรักษ์จึงเป็นเจ้านายอาวุโสที่สุด ก็ยิ่งมีอำนาจมากขึ้นๆ พระองค์นั้นแม้จะสนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้ามาแต่เป็นพระองค์เจ้าทับอย่างที่เล่ามา และยังเลือกข้างโดยสนับสนุนพระองค์ขึ้นครองราชย์ จึงทรงเป็นปฎิปักษ์กับเจ้าฟ้ามงกุฎ (ร.4) ไปโดยปริยาย

เล่ากันว่า ทรงกลั่นแกล้งเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ตลอดเวลา อาทิ ให้คนนำข้าวต้มร้อนร้อนไปใส่บาตรเจ้าฟ้าพระ เป็นต้น ซึ่งเมื่อปลายแผ่นดิน ร.3 กรมหลวงรักษ์ได้ซ้องสุมผู้คนไว้เป็นจำนวนมาก ทรงกระทำอำนาจบาตรใหญ่หลายเรื่อง มีผู้ฎีกากล่าวทุกข์ชนิดที่เป็นสมัยนี้เรียกว่า ส่ง SMS กันจนระบบล่ม ไม่ว่าเรื่องตัดสินคดีความไม่เป็นธรรม เรื่องกระทำตนเยี่ยงกษัตริย์ แม้กระทั่งเรื่องจั๊กจี้ที่ว่า กรมหลวงรักษ์ทรงโปรดตัวละครนอกที่เป็นผู้ชาย แต่นุ่งผ้าผ่อนท่อนสไบเป็นหญิง (ให้นึกภาพนางโชว์อัลคาซาร์สมัยนี้) เรียกว่าโปรดไปบรรทมคลุกด้วย จนลืมบรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามของพระองค์เอง มีผู้ร้องทุกข์(ชนิดสงสัยไปแอบอยู่ใต้พระแท่นบรรทม)ถึงรู้ว่า"ใช้มือทำให้ธาตุเคลื่อนแก่กัน" พูดแบบสมัยนี้ก็ครือ "ผลัดกันใช้มือช่วยตัวเอง" เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรัสบริภาษเรื่องนี้ กรมหลวงรักษ์โต้ตอบอย่างฉาดฉานว่า "การไม่อยู่กับลูกเมียนั้น ไม่เกี่ยวข้องแก่การแผ่นดิน"ส่วนเรื่องซ้องสุมผู้คนนั้น กรมหลวงรักษ์กราบทูลว่า "พระองค์มิได้มีแผนที่จะก่อการกบฎ แต่เป็นการเตรียมไว้หากจะมีการผลัดแผ่นดิน ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร" พูดง่ายๆ ว่า ไม่ยอมลงให้รัชกาลที่ 4 (ซึ่งทรงเดาว่าจะได้ขึ้นต่อ) หลังประชุมกับเหล่าเสนาบดีอย่างเคร่งเครียด ทรงโปรดให้กรมหลวงรักษ์เข้าเฝ้าเบื้องพระพักตร์เป็นครั้งสุดท้าย ทรงตรัสด้วยความขมขื่นว่า "ฉันได้คำนึงถึงความทะยานอันชั่วช้าของเธอที่อยากจะเป็นรัชทายาท และอยากจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง อย่าว่าแต่มนุษย์เลยที่จะให้เธอได้เป็น แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่ไม่มีปากมีเสียง มันก็ไม่ต้องการให้เธอเป็นกษัตริย์ของมัน"
ทรงโปรดให้ถอดยศกรมหลวงรักษ์ ลงเป็นสามัญชนเรียก หม่อมไกรสร แล้วให้นำไปทุบด้วยท่อนจันท์ที่วัดปทุมคงคา ตรงสำเพ็งนั่นแหละ เดี๋ยวนี้ยังมีแท่นหินที่ประหารท่านอยู่ที่วัด เล่ากันว่า หม่อมไกรสรท่านเป็นคนดุ เมื่อท่านถูกนำใส่ถุงแดง ให้เพชรฆาตทุบ เนื่องด้วยท่านเคยกำกับดูแลเรื่องประหารมาก่อน เพชรฆาตคงเกร็งที่ต้องมาทุบผู้เคยเป็นนาย เลยทุบไม่ถูกจุดตายตรงคอต่อ มีเสียงดังลั่นมาจากในถุงผ้าว่า "ไอ้พวกนี้ กูสอนไม่จำ" แหม หม่อมไกรสรนี่ ท่านทีเด็ดจนหยดสุดท้ายจริงๆ


สรุปประวัติย่อๆดูเข้าใจง่ายๆของ "เสด็จ" หรือ "หม่อมไกรสร" หนึ่งในพระราชโอรสของร.1 ที่แม่บัวถวายตัวเข้าวัง...
หม่อมไกรสร >> โดนลดยศ / เป็นกบฏ / รับสินบน / ตัดสินคดีความลำเอียง / มีอะไรกับละครชาย / โดนประหาร
หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 3 ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จ.ศ. 1210 ตรงกับวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391 รวมพระชันษา 56 ปี และเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้
**************************************************************************
ที่มาของ "พระไพรีพินาศ" กับหม่อมไกรสรและร.4
พระไพรีพินาศ เป็นพระพุทธรูปศิลาปิดทอง ศิลปะศรีวิชัย ปางประทานพร (คล้ายปางมารวิชัย เพียงแต่หงายพระหัตถ์ขวา) ประวัติการสร้างไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่ามีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ครั้งทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และพระองค์ทรงเชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีอานุภาพกำจัดภัย ให้ผู้ที่คิดร้ายพ่ายแพ้พระบารมี
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคตใหม่ ๆ นั้น รัชกาลที่ ๔ ยังทรงอยู่ในสมณเพศและพระองค์มีความชอบธรรมที่จะเสด็จเสวยราชสมบัติต่อ แต่กลับถูกคุกคามจากพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายที่สนับสนุนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๓) โดยเฉพาะจากกรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) ลวงให้เสด็จเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง และถูกควบคุมตัวเอาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นเวลาหลายวัน จนกระทั่งเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว พระองค์จึงได้รับการปล่อยให้เสด็จกลับไปประทับที่วัดสมอรายดังเดิม แม้รัชกาลที่ ๔ จะไม่ได้เสวยราชย์และดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต ก็ยังถูกกรมหลวงรักษ์รณเรศหรือพระองค์เจ้าไกรสรคุกคามกลั่นแกล้งอยู่ตลอดเวลา
ในปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงรักษ์รณเรศต้องราชภัย เพราะความกำเริบเสิบสานและสำเร็จความใคร่บ่าวจนน้ำกามเคลื่อน จึงถูกถอดเป็นไพร่เรียกว่าหม่อมไกรสร แล้วประหารชีวิตโดยทุบด้วยท่อนจันทน์ ผู้ทำหน้าที่ประหารเคยเป็นข้าในกรมของผู้ถูกประหาร จึงมือไม้สั่น ปรกติทุบทีเดียวก็ตายสนิท แต่นี่เจ้านายตัวจึงทุบพลาด เจ้านายก็เด็ดขาด ตะโกนสั่งจากถุงที่คลุมว่า ทุบใหม่ ไอ้นี่สอนไม่จำ..
ข้อความในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงกรมหลวงรักษ์รณเรศว่า “...มักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นพระเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่าว่าแต่มนุษย์เขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดียรฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดให้ถอดเสียจากกรมหลวง ให้เรียกว่าหม่อมไกรสร ลงพระราชอาญาแล้ว ให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรมสามค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๑)”
ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเฉลิมพระนามพระพุทธรูปนี้ว่า พระไพรีพินาศ โปรดให้สร้างเก๋งประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ที่พระเจดีย์วัดบวรนิเวศวิหาร
******************************************************************************
หลังจากสิ้นหม่อมไกรสรแล้ว
อีกเพียง ๒ ปีกว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๓๙๔
จึงถือว่าเหตุการณ์นี้เฉียดฉิวทีเดียว
เพราะหากหม่อมไกรสรยังมีชีวิตอยู่ หลับตาก็รู้ว่าน่าจะเกิดความวุ่นวายในราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้งแน่
***การที่รัชกาลที่๓ ได้"ตัดไฟแต่ต้นลม"ไว้ก่อน ได้ทำให้การผลัดแผ่นดินสู่รัช*กาลที่ ๔ จึงเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
ไม่มีเรื่องวุ่นวายเข้าทางต่างชาติที่จ้องสยามตาเป็นมัน!!!
**************************************************************************
น้ำพระทัยที่ยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่สาม
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระโอรสองค์แรกของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าจอมมารดาเรียม พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายทับ ประสูติตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ แต่เป็นพระนัดดาองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ที่มีพระพักตร์ละม้ายคล้ายคลึงกับพระอัยการาช (รัชกาลที่ 1) มากจึงทรงเป็นที่โปรดปรานและรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาททั้งเสด็จปู่และพระราชบิดา จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นกรมหมื่นเจษดาบดินทร์ ทรงชำนาญด้านการค้าสำเภากับชาวจีนและเรียกเก็บภาษีอากรได้เป็นกอบเป็นกำจนได้รับพระฉายาจากรัชการที่ 2 ว่า เจ้าสัว
ทรงมีพระชนมพรรษากว่าพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 4 เมื่อรัชการที่ 2 สวรรคตไม่ได้มอบราชสมบัติให้ผู้แก่พระโอรสองค์ใด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงขึ้นครองราชย์
ถือว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงรักบ้านเมืองโดยแท้คือ การตั้งใจส่งมอบราชบัลลังก์ให้รัชกาลที่ 4 ต่อไป โดยทรงคิดว่ารัชกาลที่ 4 มีความสามารถในการปกครองบ้านรอบรู้หลายด้าน โดยเฉพาะทรงเก่งภาษาต่างประเทศ และทรงถือเพศบรรพชิตบวชเรียนมา 18 ปี ควรที่ปกครองประชาราษฎร์ด้วยความเป็นธรรม
โดยมีพระราชดำรัสว่า " การศึกสงคราม ข้างญวณกับพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว "
ซึ่งในตอนนั้นพม่าได้ถูกอังกฤษยึดครองครั้งที่ 1 แล้ว
1. ไม่ทรงแต่งตั้งเจ้าจอมท่านใดให้อยู่ในตำแหน่งพระมเหสี (ทรงมีเจ้าจอมราวๆห้าสิบกว่าคน) ดังนั้นพระโอรสพระธิดาพระองค์ท่านจึงได้รับพระอิสริยยศเพียงพระองค์เจ้าเท่านั้น ไม่มีสิทธิในการครองราชย์ต่อจากพระองค์
2. ทรงประหารชีวิตกรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) ผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างที่สุด เพราะทรงเล็งเห็นว่าหากกรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) มีชีวิตต่อไปจะเกิดสงครามกลางเมืองได้ ท่ามกลางประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกจ้องจะหาเรื่องบั่นทอนยึดครองกรุงรัตนโกสินทร์อยู่
ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นภายหลังรัชกาลที่ 3 ทรงสวรรคตแล้วเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการตัดสินพระทัยที่ถูกต้องของพระองค์
*****************************************************************************************
หัวอก "เขมร" รัฐกันชนระหว่าง ไทย กับ ญวน
และบทบาทของ "เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)"
ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระอุทัยราชา ประทับอยู่ที่พนมเปญ เขมรตกอยู่ใต้อำนาจของญวน ครั้นถึง พ.ศ. 2377 สมเด็จพระอุทัยราชาถึงพิราลัย ไม่มีลูกชาย ญวนจึงยกธิดาชื่อ นักองค์มี ให้เป็นเจ้าเมืองพนมเปญโดยตำแหน่ง แต่อำนาจสิทธิ์ขาดตกอยู่กับญวนทั้งสิ้น
ส่วนนักองค์อิ่ม พระมหาอุปโยราช ที่ไทยสนับสนุนให้ไปครองเมืองพระตะบองเอาใจออกห่างไปขึ้นกับญวน โดยหวังว่าจะได้เป็นกษัตริย์ แต่ญวนไม่สนับสนุน แต่กดขี่ทารุณพระราชวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่และชาวเขมร
พวกเขมรสุดจะทนได้จึงก่อการกบฏขึ้น
ไทยได้ส่ง เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพไปช่วยนักองค์ด้วง ( น้องของสมเด็จพระอุทัยราชา ) รบกับญวนในดินแดนเขมรนานถึง 14 ปี กองทัพไทยไม่สามารถตีเมืองพนมเปญได้ เพราะทัพเรือของญวนมีกำลังเหนือกว่าไทยมาก
ในปี พ.ศ. 2384 พระเจ้ามินมางกษัตริย์ญวนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเถียวตรีได้ครองราชย์สืบต่อมา ญวนเห็นว่าไม่สามารถแปลงเมืองเขมรได้สำเร็จจึงส่ง
นักองค์อิ่ม พระมหาอุปโยราช มาครองเมืองเขมรอยู่ใต้อารักขาของญวน
ทำนองเดียวกับ นักองค์ด้วง ครองเมืองเขมรอยู่ในอารักขาของไทย นักองค์อิ่มมาอยู่ที่พนมเปญได้ไม่นานก็เกิดอหิวาตกโรคระบาด ญวนจึงกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่เมืองโจดก
ไทยจึงได้เมืองพนมเปญและบรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด
เขมรจึงแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
ภาคใต้เป็นของนักองค์อิ่ม
ภาคเหนือเป็นของนักองค์ด้วง
ต่างฝ่ายไม่สามารถปราบปรามกันได้
พ.ศ. 2389 พระเจ้าเถียวตรีกษัตริย์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าตือดึกได้ขึ้นครองราชย์ต่อ นักองค์อิ่มที่ญวนสนับสนุนอยู่ก็สิ้นพระชนม์ลงอีก ญวนจึงขอเจรจาหย่าศึก
โดยญวนขอให้เขมรส่งเครื่องราชบรรณาการต่อญวนเหมือนสมัยพระนารายณ์ราชา ทางไทยตอบตกลง
เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงถอยทัพกลับในปี พ.ศ. 2390
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้จัดการอภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นเป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณฯ ครองกรุงกัมพูชาสืบมา
เป็นอันว่าไทยได้เขมรกลับมาเป็นประเทศราชอีกครั้ง ต่อมาสมเด็จพระหริรักษ์ฯ เจ้ากรุงกัมพูชาได้ส่งนักองค์ราชาวดี (สมเด็จพระนโรดม กษัตริย์เขมรองค์ต่อมา ) ราชบุตรเข้ามารับราชการที่กรุงเทพ
และต่อมายังส่งนักองค์ศรีสวัสดิ์ ( สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กษัตริย์เขมรต่อจากพระนโรดม ) และ นักองค์วัตถาราชบุตรองค์รองเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ อีกด้วย
นักองค์ด้วงรู้สึกทราบซึ้งในคุณงามความดีของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่ช่วยปลดแอกชาวเขมรให้รอดพ้นจากการกดขี่ของญวน จึงได้สร้างศาลตั้งรูปปั้นของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ไว้ที่เมืองอุดงลือชัย เพื่อเป็นที่สักการะของชาวเขมร คนทั้งหลายเรียกศาลนี้ว่า “ศาลองค์บดินทร”



**************************************************************************

"กระผมขออาสาเป็นกองทะลวงฟัน เป็นคนแรกที่ประดาบกับข้าศึกขอรับ!" ~พ่อเหมเนื้อทอง~
กองทะลวงฟัน คืออะไร??
กองทะลวงฟัน เป็นทหารราบใช้ดาบ 2 มือเป็นอาวุธ เป็นพวกคัดพิเศษต้องแตกฉานการต่อสู้ทุกชนิดทั้งอาวุธและมือเปล่า (มวย)
จัดเป็นกองพิเศษสำหรับบุกเข้าหาแมทัพนายกองของข้าศึกเพื่อเผด็จศึกอย่างรวดเร็ว เเต่ก็ต้องคอยปะทะประมือกันกับกองทะลวงฟันของข้าศึกด้วยเช่นกันคล้ายๆกับกองทหารรบพิเศษในปัจจุบัน
กองทะลวงฟันน่าจะเป็นกองทหารราบ ที่ใช้ดาบ 2มือเป็นอาวุธหลัก เเละโดยมากจะคัดเเล้วมาจากกรมกองต่างๆที่มีนักดาบเลิศฝีมือสังกัดอยู่มาบรรจุอยู่กองทะลวงฟัน
โดยหลักๆ พลทะลวงฟันจะมีหน้าที่ตีเปิดให้พลเดินเท้าในหน่วยอื่นๆ หรือพลม้าเข้าตะลุมบอน หรือตีฝ่าออกเมื่อกองทัพตกอยู่ในวงล้อมที่เสียเปรียบจากศัตรู
สำนักดาบ"พุทธไธสวรรค์" น่าจะเป็นหน่วยทะลวงฟันเหมือนกัน เพราะลักษณะของการเข้าประดาบ เป็นการเดินหน้าถอยหลัง ต่างจากสำนักดาบ "อาทมาตย์" ของพิษณุโลก ที่จะใช้ประจำขาช้างทรง
หน่วยที่ต้องใช้งานดาบสองมือ จะเป็นหน่วยที่ชำนาญการใช้ดาบอย่างมาก เพราะต้องสามารถใช้ดาบมือซ้ายได้ด้วย ซึ่งกว่าจะฝึกฝนขึ้นมาได้ก็ยากมากเเละยังต้องผ่านการประลองในการคัดนักดาบเเต่ละสายเข้าสังกัดตามกรมกองที่เป็นที่หมายอีกด้วย

**************************************************************************
*** คู่มือดู ‪#‎ข้าบดินทร์‬ ***
สรุปอีกครั้ง สงครามอานามสยามยุทธ์ 
สงครามระหว่างไทยกับญวน ช่วงต้นรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ การรบทุกครั้งในสงครามไทย-ญวน เป็นการรบในดินแดนเขมรทั้งสิ้น จัดเป็นสงครามใหญ่ๆ 3 ครั้ง ประกอบด้วยการรบย่อยๆ หลายครั้ง กินเวลายือดเยื้อยาวนานถึง 14 ปี จนในที่สุดเลิกรากันเมื่อญวนตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส
สงครามครั้งที่ 1 พ.ศ. 2376 เกิดกบฏที่ไซง่อน พวกกบฏขอให้ไทยไปช่วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เห็นเป็นโอกาสที่จะทำลายอิทธิพลญวนให้หมดสิ้นไปจากเขมร จึงส่งกองทัพไปช่วย ขณะยกทัพไปก้ต้องปะทะกับกองทัพญวนในเขมร และกองทัพเขมรที่นิยมญวน การรบจึงมีขึ้นในดินแดนเขมรนั้นเอง ไม่ได้ไปจนถึงเมืองญวน เริ่มแรกไทยตีได้เมืองโพธิสัตว์ และเมืองพนมเปญแต่ภายหลัง ถูกตีโต้ ไม่สามารถยึดครองไว้ได้ ต้องถอยทัพกลับ
สงครามครั้งที่ 2 พ.ศ. 2383 ขุนนางเขมรคิดกำจัดญวนออกจากเขมรจึงขอให้ไทยช่วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่พลจากหัวเมืองอีสานยกไปช่วยเข้าโจมตีญวนที่เมืองโพธิสัตว์จนญวนยอมแพ้ แล้วรุกเข้าไปถึงเมืองอุคงลือไทย ญวนจึงต้องถอยทัพออกจากพนมเปญ จากนั้นก็มีการรบพุ่งประปรายทั่วไป เป็นสงครามยืดเยื้อประมาณ 2 ปี ในที่สุดต่างฝ่ายต่างก็ยึดพื้นที่คุมเชิงกันไว้
สงครามครั้งที่ 3 พ.ศ. 2388 ญวนยกทัพใหญ่มาตีพนมเปญไปได้ ทำให้ไทยต้องถอยไปตั้งมั่นที่เมืองอุคงลือไทย ญวนตามไปตี เกิดการสู้รบดุเดือดเสียเลือกเนื้อกันมาก ในที่สุดญวนต้องพ่ายหนี ไทยยึดได้อาวุธและกระสุนดินดำเป็นอันมาก ญวนจึงรอเจรจายุติสงคราม แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพไทยไม่ยอม เพราะเห็นว่ากำลังกองทัพไทยกล้าแข็งพอที่จะขับไล่ญวนให้ออกไปจากดินแดนเขมรได้ แต่การรบก็ยังคงยืดเยื้อต่อไป จนในที่สุดตกลงสงบศึกโดยให้ทั้งไทยและญวนปกครองเขมรร่วมกัน


**************************************************************************

*** คู่มือดู ‪#‎ข้าบดินทร์‬ ***
บรรดาศักดิ์ขุนนางไทย แบ่งออกได้เป็น 8 ระดับคือ
เจ้าพระยา
พระยา
พระ และ จมื่น
หลวง
ขุน
หมื่น
พัน
นาย
หมายเหตุ สมเด็จเจ้าพระยา เป็นบรรดาศักดิ์พิเศษที่ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นในบางรัชกาล
การที่ คุณพี่เหม จากตะพุ่นหญ้าช้างขึ้นเป็นหมื่นสุรบดินทร์ เท่ากับได้ขึ้นเลเว่ล 3 แล้ว
อีกนิดก็ ขุน แล้วก็ หลวง

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมอบรัดเลย์เป็นผู้บุกเบิกการพิมพ์ของไทย ได้ทำหนังสือพิมพ์ที่มีผลสำคัญ คือหนังสือจดหมายเหตุที่เรียกว่า “บางกอกรีคอร์เดอร์” เมื่อมีงานวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงออกประกาศมิให้ราษฎรเชื่อฟัง เรื่องที่ตีพิมพ์ในฝรั่ง ทำให้เกิดศัทพ์คำว่า “หนังสือพิมพ์”
ขณะเดียวกัน เพื่อแถลงข่าวของรัฐบาลเป็นการตอบโต้ จึงมีหนังสือพิมพ์ที่ออกมาเป็น หนังสือพิมพ์ฉบับรากฐานของไทยฉบับแรก (โดยรัฐบาล) มีชื่อว่า “ราชกิจจานุเบกษา” (ยังคงมีสืบเนื่องกันมานับจากสมัยรัชกาลที่ 4)
การทำหนังสือพิมพ์ของบรัดเลย์ในยุคนั้น หมอบรัดเลย์สั่งหล่อตัวพิมพ์เป็นภาษาไทยเข้ามา ตั้งแต่แท่นพิมพ์ที่แพพำนักปากคลองบางกอกใหญ่ โดยใช้หมึกดำทาพิมพ์ แล้วใช้มือหมุนลูกกลิ้งออกมาเป็นแผ่น ๆ คล้ายใบปลิว มีเรื่องราวเกี่ยวกับข่าว และโฆษณาบ้างเล็กน้อย รวมทั้งบทความวิจารณ์รัฐบาล (บางทีก็รุนแรง) ด้วย
หนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์ในยุคหลังทำเป็นเล่ม เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ ความคิด เป็นปากเสียงแทนราษฎร ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (ราชาธิปไตย)
จุดจบของหนังสือพิมพ์ของบรัดเลย์ มิใช่ถูกรัฐบาลสยามควบคุม หากเกิดจากการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบาลสยาม จากการล่วงละเมิดของกงสุลฝรั่งที่มีชื่อว่า “นายโอบาเรต์” (ชาวบ้านเรียกเขาว่า นายยากาแรต) จึงถูกกงสุลฝรั่งเศสฟ้อง และยากจะชนะคดี
เพราะฝรั่งเศสมีอิทธิพลอย่างยิ่งในยุคนั้น รัฐบาลสยามเกรงว่า ฝรั่งเศสจะหาเรื่องลุกลามไปสู่เรื่องอื่น ๆ จึงมีพระราชกระแส (ของรัชกาลที่ 4) ห้ามขุนนางไทยไปเบิกความเป็นพยานจำเลย ผลทำให้หมอบรัดเลย์แพ้คดีและถูกศาลบังคับให้ชดใช้สินไหมแก่นายยากาแรต เป็นเงินจำนวนมาก
หมอบรัดเลย์ต้องขายทรัพย์สินบางส่วน และอาศัยเงินที่ฝรั่งผู้รักความเป็นธรรมช่วยกันบริจาคช่วยเหลือ ซึ่งในบรรดาผู้ช่วยชำระเงินค่าสินไหมครั้งนั้นที่ไม่เปิดเผยนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวนมากพอสมควรให้แก่หมอบรัดเลย์ด้วย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ชุมชนชาวจีนในประเทศไทย"
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนมีมายาวนานกว่าหนึ่งพันปี เริ่มต้นตั้งแต่พ่อค้าชาวจีนยุคบุกเบิกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในหลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย นับแต่ยุคแรกๆ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงศตวรรษที่ 17 การค้าขายทางเรืออยู่ในความควบคุมของชาวจีนเป็นหลัก
ล่วงมาถึงสมัยกรุงธนบุรี การค้าขายของชาวจีนก็มีความโดดเด่นมากเช่นเดียวกัน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ก็ทรงสนับสนุนการทำธุรกิจเหล่านี้ และทรงต้อนรับชาวจีนอพยพซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงสืบทอดในการสนับสนุนกิจกรรมการค้าของชาวจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้า ของไทย-จีนให้ยิ่งมั่นคงและยั่งยืนขึ้น โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เป็นยุคที่คนจีน เดินทางหลั่งไหลเข้ามาสู่ราชอาณาจักรของไทยเป็นจำนวนมาก
การอพยพของชาวจีนยุคแรก ส่วนมากเป็นผู้ชาย เมื่อเข้ามาตั้งรกรากแล้วก็จะแต่งงานกับผู้หญิงไทย และกลายเป็นค่านิยมในสมัยนั้น ลูกหลานจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาตินี้เรียกว่า ลูกจีน
แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ กระแสการอพยพเริ่มเปลี่ยนไป ผู้หญิงจีนอพยพเข้ามาในสยามมากขึ้น จึงทำให้การแต่งงานข้ามเชื้อชาติลดลง
ทั้งนี้ การคอรัปชั่น ในรัฐบาลราชวงศ์ชิง และการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศจีน ประกอบกับการเก็บภาษีที่เอาเปรียบ ทำให้ชายชาวจีนจำนวนมากมุ่งสู่สยามเพื่อหางานและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในประเทศจีน ขณะนั้นชาวจีนจำนวนมากต้องจำยอมขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีเพาะปลูกของทางการ
ในรัชสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ประเทศไทยต้องระวังผลกระทบจากการที่ฝรั่งเศสได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และอังกฤษได้มลายูเป็นอาณานิคม ในขณะเดียวกัน ชาวจีนจากมณฑลยูนนานก็เริ่มไหลเข้าสู่ประเทศไทยกลุ่มชาวไทยชาตินิยมจากทุกระดับจึงได้เกิดความคิดต่อต้านชาวจีนขึ้น หลายร้อยปีก่อนหน้านี้ ชาวจีนกุมเศรษฐกิจการค้าส่วนใหญ่ไว้ และยังได้รับอำนาจผูกขาดการค้าและรวมถึงการเป็นนายอากรเก็บภาษีซึ่งเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย ในขณะนั้นอิทธิพลทางการค้าของชาติตะวันตกก็สูงขึ้น ทำให้พ่อค้าขาวจีนหันไปขายฝิ่นและเป็นนายอากรมากขึ้น นอกจากนี้ เจ้าของโรงสีและพ่อค้าข้าวคนกลางชาวจีนยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสยามในปีซึ่งกินเวลาเกือบ 10 ปี หลังปี พ.ศ. 2448 ด้วย
การให้สินบนขุนนาง กลุ่มอันธพาลอั้งยี่ และการเก็บภาษีอย่างกดขี่ ทั้งหมดนี้จุดประกายให้คนไทยเกลียดชังคนจีนมากขึ้น ในขณะเดียวกันอัตราการอพยพเข้าประเทศไทยก็มากขึ้น ในพ.ศ. 2453 เกือบ 10 % ของประชากรไทยเป็นชาวจีน ซึ่งผู้อพยพใหม่เหล่านี้มากันทั้งครอบครัวและปฏิเสธที่จะอยู่ในชุมชนและสังคมเดียวกับคนไทย ซึ่งต่างกับผู้อพยพยุคแรกที่มักแต่งงานกับคนไทย
ดร.ซุน ยัตเซ็น ผู้นำการปฏิวัติประเทศจีน ได้เผยแพร่ความคิดให้ชาวจีนในประเทศไทยมีความคิดชาตินิยมจีนให้มากขึ้นเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ชุมชนชาวจีนจะสนับสนุนการตั้งโรงเรียนเพื่อลูกหลานจีนโดยเฉพาะโดยไม่เรียนรวมกับเด็กไทย ในปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ชาวต่างชาติในประเทศไทยจดทะเบียนเป็นคนต่างด้าว เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวจีนจำนวนมากต้องเลือกว่าจะเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์หรือจะยอมเป็นคนต่างด้าว
ชาวไทยเชื้อสายจีนจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารซึ่งเริ่มในประมาณพ.ศ. 2475 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการประกาศอาชีพสงวนของคนไทยเท่านั้น เช่น การปลูกข้าว ยาสูบ อีกทั้งประกาศอัตราภาษีและกฏการควบคุมธุรกิจของชาวจีนใหม่ด้วย
ในขณะที่มีการปลุกระดมชาตินิยมจีนและไทยขึ้นพร้อมกัน ในปี พ.ศ. 2513 ลูกหลานจีนที่เกิดในไทยมากกว่า 90 % ถือสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ และเมื่อมีการเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการแล้วในปี พ.ศ. 2518 ชาวจีนที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย ก็มีสิทธิที่จะเลือกที่จะถือสัญชาติไทยได้
**************************************************************************
คลองแสนแสบ คลองร่วมสมัยกับยุค #ข้าบดินทร์ เพราะขุดในสมัยรัชกาลที่ 3
คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ. 2380 ซึ่งนับได้กว่า 178 ปีมาแล้ว ด้วยพระราชประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบ และเสบียงอาหารไปยังญวน (เวียดนาม) ในราชการสงครามไทย-ญวน ซึ่งใช้เวลารบนานถึง 14 ปี ใน "สงครามอานามสยามยุทธ"
คลองแสนแสบ ถือว่าเป็น คลองขุดที่มีความยาวที่สุดของประเทศไทย คือยาวถึงเกือบ 90 กิโลเมตร เป็นคลองที่เชื่อมต่อจากคลองมหานาคตรงบริเวณตลาดโบ๊เบ๊ไปทางทิศตะวันออก จนไปทะลุออกแม่น้ำบางปะกงที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยแบ่งออกเป็นช่วงใหญ่ๆ ได้ 2 ช่วง คือ คลองแสนแสบช่วงต้น เริ่มจากจุดที่เชื่อมกับคลองมหานาคไปจนถึงหัวหมาก และคลองแสนแสบช่วงปลาย ซึ่งเริ่มจากหัวหมากไปออกแม่น้ำบางปะกง
โดยการเดินทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาไปเขมรก่อนมีคลองแสนแสบได้ใช้เส้นทางเมืองปราจีนบุรี-เมืองพระตะบอง ซึ่งต้องยกทัพทางเรือจากพระนครไปยังเมืองฉะเชิงเทราเสียก่อน จากนั้นเดินบกไปปราจีนบุรี ประจันตคาม กบินทร์บุรี ฯลฯ
แต่เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองฉะเชิงเทราไม่สะดวก เพราะต้องเดินทางอ้อมโดยต้องพายเรือย้อนลงไปเข้าคลองสำโรงที่เมืองสมุทรปราการ แล้วตัดไปทะลุแม่น้ำบางปะกงทางใต้เมืองฉะเชิงเทรา จากนั้นจึงพายทวนน้ำขึ้นไปฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการยากลำบากและเสียเวลาในการลำเลียงยุทโธปกรณ์
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองในการขุดคลองใหม่ขึ้น คือคลองบางขนาก (ต่อมานิยมเรียกคลองแสนแสบ) เมื่อวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2380 เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ใช้ขนส่งไพร่พล ยุทโธปกรณ์ และเสบียงอาหารในสงครามระหว่างไทยกับเวียดนาม หรือที่เรียกกันว่า อานามสยามยุทธ
คลองขุดใหม่นี้นอกจากมีพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองขุดคลองแล้ว ยังมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ทำการตรวจดูการขุดคลอง
แต่พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) รับผิดชอบการขุดคลองใหม่ได้ไม่นาน ก็ให้ป็นแม่ทัพยกไปปราบขบถเมืองไทรบุรี จากนั้นให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รับผิดชอบการขุดคลองแทน ดังนั้นจึงรู้กันทั่วไปว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ควบคุมการขุดคลองแสนแสบ
เมื่อขุดคลองบางขนากหรือคลองแสนแสบแล้วได้ทำให้สามารถเดินเรือลัดแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำบางปะกงได้สะดวกมากขึ้น
เพราะจากพระนครสามารถล่องเรือลัดจากคลองรอบพระนคร (คลองคูเมือง) ออกคลองมหานาคเข้าสู่คลองบางกะปิไปจนถึงหัวหมากแล้วเข้าคลองบางขนากที่ขุดขึ้นมาใหม่แล้วตัดเข้าแม่น้ำบางปะกงได้ทันที ไม่ต้องล่องเรืออ้อมเข้าคลองสำโรง ทำให้การขนส่งเสบียงอาหารและยุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพไทยในกัมพูชาได้รับความสะดวกสบายมากจึ้นกว่าเดิมอย่างมาก
สำหรับการขุดคลองเริ่มตั้งแต่หัวหมากไปจนถึงบางขนาก เป็นระยะทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก ลึก 4 ศอก กว้าง 6 ศอก และแก้คลองพระโขนงไปพร้อมกันด้วย สิ้นเงินไปทั้งหมด 1,206 ชั่ว 13 ตำลึง 2 บาท 1 สลึง 1 เฟื้อง ขุดอยู่จนถึงปี พ.ศ.2383 ก็เสร็จเรียบร้อย เรียกคลองที่ขุดขึ้นใหม่นี้ว่า คลองบางขนาก หรือคลองแสนแสบ
หลังสงครามระหว่างสยามกับญวนสงบลง ริมสองฝั่งคลองนี้ได้มีชาวบ้านมาทำไร่ทำนากันเป็นจำนวนมาก เพราะว่าสามารถเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา และต่อไปถึงปราจีนบุรีได้อย่างรวดเร็ว ความสำคัญของคลองจึงเปลี่ยนจากเส้นทางยุทธศาสตร์ในการรบมาเป็นเส้นทางเศรษฐกิจและการค้าแทน
ส่วนที่มาของชื่อของคลองแสนแสบนั้น น่าจะมาจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่คลองนี้ไหลผ่าน ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเต็มไปด้วยทุ่งหญ้า มีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงแหล่งใหญ่ ทุ่งเหล่านี้มีอยู่หลายแห่ง เช่น ทุ่งบางกะปิ ทุ่งคลองตัน ทุ่งมีนบุรี ทุ่งหนองจอก และจากหลักฐานสำคัญ คือ รายงานการเดินทางของ นาย ดี.โอ.คิง (D.O.King) นักสำรวจชาวอังกฤษแห่งกรุงลอนดอน มีความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้คนแถบคลองแสนแสบนี้ว่า
"...คลองนี้มีความยาว 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณที่ราบชนบท ซึ่งใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะ คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ เช่นเดียวกับชาวสยามอื่นๆ พื้นบ้านของคนเหล่านี้ทำด้วยไผ่ยกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 4 ฟุต เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้ารัดเอวธรรมดาๆ และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ..."
จากข้อความตามรายงานของนาย ดี.โอ.คิง นี้ก็น่าที่จะสนับสนุนความเชื่อที่ว่าบริเวณที่คลองแสนแสบไหลผ่านเป็นแหล่งยุงชุมจริงๆ ความเจ็บปวดของชาวบ้านหรือผู้สัญจรผ่านไปมาที่เกิดจากการถูกยุงกัด จึงเป็นที่มาของชื่อ "แสนแสบ" นั่นเอง
แต่ก็มีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งว่า "แสนแสบ" เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเขมรว่า "แสสาบ" เพราะในสมัยหนึ่งคนไทยเคยเรียกทะเลว่า "เส" หรือ "แส" ส่วนคำว่า "สาบ" เป็นภาษาเขมรแปลว่า "จืด" คำนี้คนไทยยืมมาใช้เรียกทะเลน้ำจืดว่า "ทะเลสาบ" อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น "แสสาบ" หรือที่แปลว่าทะเลน้ำจืด อาจถูกนำมาใช้เรียกคลองน้ำจืดอันกว้างและยาวแห่งนี้ แล้วเพี้ยนเสียงกลายมาเป็น "แสนแสบ" ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ประกอบกับในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยได้กวาดต้อนเชลยศึกชาวเขมรมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ย่านบางกะปิเป็นจำนวนมาก ชาวเขมรจึงอาจเรียกคลองที่ไหลผ่านแหล่งชุมชนของตนด้วยภาษาเขมร แล้วเพี้ยนมาเป็นแสนแสบดังที่กล่าวไปแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช (รัชกาลที่ 5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมแก้ขนาดปากคลองจากเดิม ซึ่งกว้าง 6 วา เป็นกว้าง 8 วา กับให้มีสะพานโยงทั้งสองฝั่งคลอง ฝั่งคลองละ 6 ศอก เพื่อสนับสนุนการคมนาคมและการค้าขาย ทำให้ชุมชนริมคลองแสนแสบยิ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าเดิม
เนื่องจากคลองแสนแสบเป็นคลองหลักในการคมนาคมระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง จึงมีการขุดคลองซอยแยกออกจากคลองแสนแสบเป็นจำนวนมาก เช่น คลองจั่น คลองกุ่ม คลองบางชัน คลองสามวา คลองตาหวาน คลองสิบสาม คลองสิบสี่ คลองสิบห้า คลองตัน คลองกะจะ คลองหัวหมาก คลองสะพานสูง คลองลาดบัวขาว คลองสี่ คลองบ้านเกาะ คลองนครเนื่องเขต เป็นต้น
สำหรับตำนานที่ทำให้คลองแสนแสบเป็นที่รู้จักของคนไทยแทบจะทุกคนก็คือเรื่อง แผลเก่า เรื่องราวความรักของ ไอ้ขวัญ - อีเรียม แห่งทุ่งบางกะปิ ความรักที่เกิดจากการเล่นน้ำในคลองแสนแสบด้วยกัน แต่เป็นความรักเต็มไปด้วยอุปสรรค จนทำให้ต้องจบชีวิตด้วยการจมน้ำตายที่คลองแห่งนี้เช่นกัน เรื่องราวของทั้งสองเป็นที่เล่าขานกันมาจนถึงปัจจุบัน มีการนำไปทำเป็นภาพยนตร์และละครอยู่หลายต่อหลายครั้ง
แต่คลองแสนแสบในปัจจุบันไม่ได้เป็นที่น่าประทับใจแบบนั้นอีกแล้ว โดยเฉพาะคลองแสนแสบในช่วงเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเมื่อชุมชนริมคลองขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ท้องทุ่งต่างๆ ก็ถูกแทนที่ด้วยบ้านไปจนหมดสิ้น และยิ่งนานวันเข้า สภาพบ้านเรือนก็ยิ่งแออัด รวมกับความมักง่ายของคน จึงก็ทำให้คลองแสนแสบเต็มไปด้วยขยะและสิ่งปฏิกูล น้ำในคลองเน่าเหม็นจนไม่สามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคได้อีกต่อไป ความเน่าเหม็นของคลองแสนแสบเป็นที่โจษจันกันอย่างมาก เพราะแม้กระทั่งปลาหรือสัตว์น้ำเองก็แทบจะทนอยู่ในคลองนี้ไม่ได้
คลองแสนแสบในกรุงเทพมหานครดูจะมีประโยชน์ที่ชัดเจนเพียงอย่างเดียวในตอนนี้ก็คือ ใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำด้วยเรือหางยาวประจำทางจากท่าเรือใต้สะพานผ่านฟ้าลีลาศบริเวณถนนราชดำเนิน ไปจนถึงท่าสุดท้ายที่วัดศรีบุญเรือง ย่านบางกะปิ ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับการสัญจรทางบกในชั่วโมงเร่งด่วนที่ต้องเสียเวลากว่า 2 ชั่วโมงแล้ว จึงนับว่าเป็นทางเลือกในการสัญจรไปมาที่ดีของคนกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
**************************************************************************

พระเอก-นางเอกแห่งสยามประเทศ 
ทั้งพระเอก-นางเอกฉลาด รักเดียวใจเดียว มีอะไรก็พูดกันตรงๆ ไม่ต้องเข้าใจผิดกันนาน ไม่ว่าสุขหรือทุกข์พร้อมอยู่เคียงข้างช่วยเหลือกันตลอด
แถมยังรักชาติรักแผ่นดิน
‪#‎ข้าบดินทร์‬

เป็นผู้ชายมียศศักดิ์
แต่พูดเจ้าคะเจ้าขากับแม่
คุกเข่านั่งพื้นต่ำกว่าเมียแล้วซบตักอ้อนให้เมียลูบผม
แถมชัดเจนมั่นคงไม่คล้อยตามลูกอ้อนแฟนเก่า ทั้งยันทันความสตรอเบอแหล
ผู้ชายแบบนี้...สาวคนไหนได้เป็นแฟนคงฟินไม่น้อย
‪#‎ข้าบดินทร์‬






คุณพี่เหม ชายนิรนามที่เดินทางไปกับคณะทูตสยามไปอังกฤษ
*******************************************************************
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ 2400 คณะราชทูตสยามหรือไทยคณะแรกได้เดินทางไปที่ต่างประเทศ คือประเทศอังกฤษเพื่อไปเจริญทางพระราชไมตรี
การเดินทางสมัยนั้นยากสำบากมากไม่มีเครื่องบินในการเดินทาง ต้องเดินทางโดยทางเรื่อใช้เวลาหลายเดือน ช่วงสมัยนั้นสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เป็นสมเด็จพระราชินีของประเทศอังกฤษ
ทั้งนี้ ก่อนที่ทางการไทยจะได้ส่งคณะราชฑูตไปนั้นขอย้อนอดีตไปเมื่อปีพ.ศ 2368 ราชสำนักอังกฤษได้ส่งนายเฮนรี เบอร์นี เป็นฑูตเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ มีการลงนามร่วมกันระหว่างสองประเทศเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ 2369 ซึ่งนับได้ว่าเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีสาระสำคัญ คือ
1. เปิดโอกาสให้พ่อค้าไทยและต่างประเทศค้าขายกันโดยตรง (ไม่ผ่านพระคลังสินค้า) ยกเว้นสินค้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงที่จะต้องขายให้กับรัฐบาลเท่านั่น
2. การเก็บภาษีจากเรือที่นำสินค้าเข้ามาขายให้เก็บตามความกว้างของปากเรือในอัตราวาละ 1700 บาท ถ้าเรือไม่บรรทุกสินค้าเก็บ 1500 บาท
3.พ่อค้าอังกฤษต้องปฎิบัติตามกฎหมายไทย สนธิสัญญาที่มีสาระเช่นเดียวกันนี้ ทางรัฐบาลไทยได้ลงนามร่วมกับนายเอดมันด์ โรเบิร์ต ตัวแทนของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้การค้าขายราบรื่นดีในช่วงนั้น สัญญาดังที่กล่าวมาได้ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพ.ศ.๒๓๙๔ ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องยินยอมตามข้อเรียกร้องของชาติตะวันตก จึงติดต่อกับเซอร์ จอห์น เบาว์ริง( Sir John Bowring ) ข้าหลวงอังกฤษประจำเกาะฮ่องกง ผู้ซึ่งจะเป็นทูตมาเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับไทยว่ายินดีที่จะแก้ไขสนธิสัญญา แต่ขอเวลาให้งานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จสิ้นก่อน และขอทราบความต้องการของอังกฤษในการแก้ไขสนธิสัญญา เพื่อไทยจะได้เป็นการปรึกษาภายในก่อน การแก้ไขสนธิสัญญาก็จะทำได้เร็วขึ้น
เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เดินทางเข้ามาถึงเมืองไทยในปลายเดือนมีนาคม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และทรงตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงธิราชสนิทเป็นประธาน ทำกันที่พระราชวังเดิม คือ พระราชวังเก่าของพระเจ้าตากสินมหาราช การเจรจาสำเร็จลุล้วงไปด้วยดีและมีการลงนามในสนธิสัญญา ในต้นเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๙๘
สนธิสัญญาเบาว์ริง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไทย ดังนี้
๑. เป็นการเริ่มต้นการค้าเสรีในประเทศไทย ซึ่งทำให้ต่างชาติเข้ามาค้าขายเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก จนทำให้ผู้คนภายในประเทศมีฐานะดีขึ้นกว่าเดิม
๒. ข้าวกลายเป็นสินค้าสำคัญของไทย จนกระทั่งปัจจุบัน
๓. ไทยเข้าสู่สังคมนานาชาติ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น วัฒนธรรมไทยมีการปรับตัวให้เหมาะสมมีการรับวัฒนธรรมและวิทยการของชาติตะวันตกเข้ามาเพิ่มเพิ่มมกขึ้น
อย่างไรก็ดี ผลเสียของสนธิสัญญาเบาว์ริงก็มี้เหมือนกัน ดังนี้
๑. ไทยถูกจำกัดการเก็บภาษีขาเข้าที่อัตรา ๓
๒. เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและคนในบังคับ ทำให้ประเทศตะวันตกชักชวนคนชาติเอเชียไปจดทะเบียนเป็นคนในบังคับ กฎหมายจึงไม่สามารถควบคุมคนเหล่านั้นได้
ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้ทรงเจรจากับชาติตะวันตกเพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาและประสบความสำเร็จในบางส่วน พระมหากษัตริย์ในสมัยต่อมาทรงดำเนินการต่อ จนประสบผลสำเร็จเมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ ทำให้ไทยสามารถเพิ่มอัตราภาษีได้และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตรวมทั้งปัญหาคนในบังคับจึงสิ้นสุดลง
สำหรับคณะราชทูตไทยได้ถวายราชสาส์สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียเมื่อวันที่ พฤห้สบดี เดือนอ้าย ขึ้น 3 ค่ำ ปีมะเส็ง นพศก ซึ่งตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ 2400
ในพีธีการในครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูต จมื่นสรรเพชรภักดีเป็นอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์เป็นตรีทูต หม่อมราโชทัยเป็นล่ามไปเจริญพระราชไมตรียังประเทศอังกฤษ เพื่อถวายราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการแด่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย นับเป็นครั้งแรกที่ราชทูตไทยเดินทางไปยังทวีปยุโรปในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
การเดินทางในครั้งนั้นยังได้เกิด"นิราศลอนดอน"โดยหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย) แต่งขึ้นในคราวได้ร่วมไปในคณะราชทูตไทยเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษในรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2400 ได้แต่งพร้อมกับจดหมายราชทูตไทยไปอังกฤษ
โดยแต่งเป็นกลอนนิราศมีความยาว 2,414 คำกลอน เป็นเรื่องที่ยาวที่สุดในวรรณคดีประเภทนิราศ ตอนท้ายของเรื่องเป็นกลอนกลบท กบเต้นต่อยหอยหรือละลอกแก้วกระทบฝั่งและจบลงด้วยโคลงสี่สุภาพ 5 บท
“...ทั้งสี่นายนอบกายเข้ามอบเกศ
ต่างทูลเหตุเอกอนงค์องค์สมร
เสาวนีตรัสเสร็จเสด็จจร
ดังจันทรเลื่อนลับกลับวิมาน
พระสามีที่สนิทพิศวาส 
งามสะอาดโอ่อ่าดูกล้าหาญ
จึงแย้มเยื้อนเอื้อนโอษฐ์ด้วยโปรดปราน แล้วประทานหัตถ์ให้จับรับทุกนาย...”
ทั้งนี้ผู้เขียน #ข้าบดินทร์ ได้บรรยายช่วงนี้ว่า...
พุทธศักราช ๒๓๙๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์
พุทธศักราช ๒๓๙๗ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ส่ง เซอร์ จอห์น เบาวริ่ง นำคณะทูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่งตั้งให้คณะทูตไทยไปถวายเครื่องราชบรรณาการยังประเทศอังกฤษเป็นการตอบแทน
พุทธศักราช ๒๔๐๐ คณะทูต ไทยออกเดินทางจากประเทศไทย ไปถวายเครื่องราชบรรณาการต่อสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย มีรายนามดังนี้
๑. ราชฑูต พระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชุ่ม บุญนาค)
๒.อุปฑูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (เพ็ง ต้นสกุล เพ็ญสกุล)
๓. ตรีทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ด้วง)
๔. ล่ามหลวง หม่อมราโชทัย ชื่อหม่อมราชวงศ์กระต่าย ( อิศรางกูร ณ กรุงเทพ)
๕. ผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ จมื่นราชามาตย์ (ท้วม บุนนาค )
๖. ผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ นายพิจารณ์สรรพกิจ (ทองอยู่ กัลยาณมิตร)
๗. ล่ามของราชฑูต ขุนจรเจนทเล (ฉุน)
๘. ล่ามของอุปทูต นายโนรี
๙. ล่ามของตรีทูต ขุนปรีชาชาญสมุท (ดิศ)
๑๐. นายเทศ บุนนาค
๑๑. นายทด บุญนาค
๑๒. เสมียนของราชทูต
๑๓. เสมียนของอุปทูต
๑๔. เสมียนของตรีทูต
๑๕. หมอยาจากกรมโอสถ
๑๖. .....เข้าใจว่าหมอนวด?
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~พี่เหม น่าจะเป็น หมอนวดแฮะ?

**************************************************************************


หลังจากทูตไทยไปอังกฤษเมื่อปี 2440 จากนั้นอีก 4 ปีคณะทูตไทยได้ไปฝรั่งเศส ได้สร้างข่าวใหญ่ไปทั่วยุโรป เพราะพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสต้องการสร้างภาพความยิ่งใหญ่ของพระองค์จากการมาเยือนของคณะทูตสยาม จึงเกิดภาพวาดสุดคลาสสิค
จากนั้นเมื่อต้นเดือน มี.ค.ปีนี้การมาเยือนของทูตสยามไปฝรั่งเศสก็กลับมาเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกอีกครั้ง
นั่นคือข่าว "พระมหาพิชัยมงกุฎฯ" ที่ถูกโจรกรรมฝรั่งเศส
การโจรกรรมครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกจับตามอง กรณี 'พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง' ของไทยถูกโจรกรรมไปจากพิพิธภัณฑ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หายไปพร้อมงานศิลปะรวม15 ชิ้น พระมหาพิชัยมงกุฎจำลองนั้นทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างไร ที่นี่มีคำตอบ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. เหตุโจรกรรมโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์จีน ในพระราชวังฟงแตนโบล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แพร่สพัดไปทั่วโลก กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่ามีโบราณวัตถุถูกโจรกรรมทั้งสิ้น 15 ชิ้น หนึ่งในนั้นคือ 'พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง' ของไทยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) มอบให้กับกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2404
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวหลังทราบเหตุดังกล่าว “เป็นที่น่าเสียดายเพราะพระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง ถือเป็นเครื่องมงคลราชบรรณาการ อันเป็นโบราณวัตถุที่ประเมินค่ามิได้ ทำจากทองคำแท้ เป็นมงกุฎทองประดับเพชร 233 เม็ด ทับทิม 2,298 เม็ด มรกต 46 เม็ด และไข่มุก 9 เม็ด ส่วนเรื่องของการติดตามและดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ถือเป็นเรื่องของทางการฝรั่งเศส”

'พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง' ถือเป็น 'เครื่องมงคลราชบรรณาการ' วีระ อธิบายว่าคำนี้มีความหมายต่างจาก ' เครื่องราชบรรณาการ' การเติมคำว่า 'มงคล' แทรกลงไปในคำว่าเครื่องราชบรรณาการ มีนัยแฝงว่าพระเจ้ากรุงสยาม มีสถานะเทียบเท่ากับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เท่ากับว่า 'เครื่องมงคลราชบรรณาการ' เป็นของขวัญแก่มิตรประเทศ แสดงเกียรติยศเปรียบเสมอกับระหว่างราชสำนักตะวันตกกับตะวันออก ไม่ใช่การโอนอ่อนยอมรับอำนาจเป็นเมืองขึ้นเหมือนการส่งเครื่องบรรณาการ เปรียบได้กับการแสดงเกียรติยศของกษัตริย์ทั้งสองซีกโลก ซึ่งถือเป็นทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าระดับมรดกศิลป์ของชาติ หรืออาจจะของโลกที่ยากเกินการประเมินค่า
ภายหลังพระมหาพิชัยมงกุฎจำลองถูกโจรกรรมมีผู้คนในแวดวงศิลปะออกมาให้ความรู้ถึงปูมหลังทางประวัติศาสตร์ไม่น้อย เช่นเดียวกับ กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการต่างประเทศและกีฬา หนังสือพิมพ์ M2F โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kornkit Disthan ถึงเรื่องราวของคณะราชทูตไทยที่เดินทางไปถวายเครื่องมงคลราชบรรณาการ พร้อมภาพวาดจากจิตรกรฝีมือดีผู้ตวัดพู่กันบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ความว่า
“วันนี้ (2 มีนาคม 2558) มีข่าวการโจรกรรมศิลปวัตถุล้ำค่าในพระราชวังฟงแตนโบล ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หนึ่งในสิ่งของที่ถูกขโมยไปคือ พระมหาพิชัยมงกุฏองค์จำลอง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงส่งถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส เมื่อพ.ศ. 2404 โดยผู้ถวายพระมงกุฏพร้อมด้วยเครื่องราชูปโภค คือคณะราชทูตนำโดยเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (แพ บุนนาค)
เมื่อพูดถึงคณะราชทูตชุดนี้ นอกจากพระมหามงกุฎจำลองและเครื่องราชูปโภค ยังมีอีกหนึ่งประจักษ์พยานที่เหลือไว้ คือภาพการต้อนรับคณะราชทูตสยามโดยพระเจ้านโปเลียนที่ 3
กระทรวงวัง ได้ว่าจ้าง ฌอง-เลอ็ง เฌโฮม (Jean-Léon Gérôme) จิตรกรลือชื่อในยุคนั้นให้วาดภาพที่ระลึก "การต้อนรับคณะราชทูตสยามโดยพระเจ้านโปเลียนที่ 3" (Réception des ambassadeurs siamois par l'empereur Napoléon III ) ณ ท้องพระโรงใหญ่ แห่งพระราชวังฟงแตนโบล เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2404 เฌโฮม ใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะวาดภาพนี้แล้วเสร็จ โดยจุดเด่นของภาพนี้อยู่ที่การปะทะสังสรรค์ระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก ขณะที่คณะราชทูตสยามหมอบกราบตามธรรมเนียมตนยามเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนบรรดาข้าราชบริพารฝรั่งเศสกลับยืนเข้าเฝ้าอย่างลำลองตามปกติวิสัยของตน ภาพนี้ยังสอดคล้องกับแนวการทำงานของ เฌโฮม ที่นิยมวาดภาพในแนวบูรพาคดีนิยม (Orientalism) หรือภาพที่แสดงความลึกลับ น่าค้นหาของโลกตะวันออก ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมกันมากในยุคก่อนศิลปะโมเดิร์น

จุดเด่นอีกประการ ก็คือ ภาพนี้เป็นการรวบรวมภาพเหมือนบุคคลสำคัญในยุคนั้น ที่มีความเหมือนจริงอย่างมาก ทั้งข้าราชการฝรั่งเศส และราชทูตฝ่ายไทย อย่างน้อย 80 ท่าน ที่สามารถระบุตัวตนได้ ไม่แน่ว่า เฌโฮม อาจวาดขึ้นจากภาพถ่ายราชทูตที่ถ่ายโดย กัสปาร์ด-เฟลิกซ์ ตูร์นาคง (Gaspard-Félix Tournachon) ช่างภาพเอกอุในยุคนั้น แต่ก็ยังมีช่างภาพอีกท่านหนึ่งถ่ายภาพคณะราชทูตไว้อีกชุด คือ ฌัก-ฟิลิป ปอต์โต (Jacques-Philippe Potteau) ซึ่งผมเคยลงภาพชุดนี้ไปแล้ว
ปัจจุบันภาพการต้อนรับคณะราชทูตสยามโดยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 จัดแสดงที่พระราชวังแวร์ซาย

1 ความคิดเห็น:

  1. คุณพระ ข้ารู้สึกกำลังอยู่ในประวัติศาสตร์ (เป็นทาสในเรือนท่านขุนนาฏยโกศล)เพคะ

    ตอบลบ