เพลงฉ่อยชาววัง

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ปัญหามุสลิมโรฮีนจา เผือกร้อนในหลายประเทศ

รากเหง้าปัญหาโรฮีนจา เหตุจากอังกฤษยึดครองพม่า ปัญหาที่ไร้ทางออก
(โดย วันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ , วันเสาร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2558)
ทำไม ทุกประเทศในแถบนี้ ไม่ยอมรับโรฮีนจาให้ขึ้นฝั่งและให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะโรฮีนจาที่มาจากรัฐยะไข่ในพม่า
เพราะพม่าประกาศมาตั้งแต่ได้รับเอกราชมาจากอังกฤษเมื่อ 70 ปีมาแล้ว โรฮีนจาไม่ใช่คนพม่า แม้พม่าจะประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ เกือบ 140 ชนเผ่า ที่รัฐบาลพม่ายอมรับว่าเป็นคนสัญชาติพม่า แต่พม่าไม่เคยยอมรับว่าชนเผ่าโรฮีนจาเป็นหนึ่งในนั้น ในกฎหมายของพม่า ชาวโรฮีนจาไม่ได้รับการนับรวมเป็นชนเผ่าในพม่า ไม่ใช่พลเมือง และไม่ให้สิทธิต่างๆ ในฐานะพลเมือง ยังถือว่าเป็นผู้อาศัยเท่านั้น และกดดันด้วยวิธีต่างๆ อันสบเนื่องมากจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
ความไม่พอใจของพม่าที่มีต่อชาวโรฮีนจา มีมาตั้งแต่สงครามกับอังกฤษ รวมสามครั้ง สองครั้งแรก อังกฤษยึดพม่าตอนล่างรวมทั้งกรุงย่างกุ้งและเมืองต่างๆ บริเวณทางใต้ ครั้งที่สามอังกฤษตีเมืองมัณฑะเลย์ จับกษัตริย์พม่าและครอบครัวไปกักตัวไว้ที่เมืองรัตนคีรีในอินเดียจนตาย พร้อมทั้งยึดเอาทับทิม เพชรพลอยและสิ่งของมีค่า (ที่ราชวงศ์กษัตริย์ของพม่าสะสมไว้มากมายหลายหีบ) ไปจากพม่าเกือบหมด (พระเจ้าสีบ่อ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า เขียนจดหมายจากเมืองรัตนบุรีไปยังรัฐบาลอังกฤษหลายฉบับ เพื่อทวงคืนทับทิมและเพชรพลอยที่ถูกทหารอังกฤษแย่งเอาไป แต่ไม่ได้การตอบสนองแต่อย่างใด) และอังกฤษยึดพม่าไว้เป็นเมืองขึ้นทั้งประเทศ
ในการรบกับพม่า นอกจากทหารอังกฤษแล้ว อังกฤษยังเอาทหารกูรข่า และพวกโรฮีนจาจากอินเดีย (ปัจจุบันเป็นบังคลาเทศ) มาช่วยอังกฤษรบกับพม่า และเมื่ออังกฤษยึดครองพม่า ก็เปิดให้คนอินเดียอพยพเข้ามาทำมาหากินและค้าขายในพม่าได้สะดวก พวกโรฮีนจาที่มาช่วยรบก็ลงหลักปักฐานในพม่าและอีกจำนวนมากก็อพยพเข้ามาเพิ่มเติม จนปัจจุบันมีคนโรฮิงยาจำนวน 1.6 ถึง 2 ล้านคนในพม่า ซึ่งพม่ายังถือว่าพวกโรฮิงยาไม่ใช่พม่าเดิมและเป็นพวกศัตรู แม้โรฮีนจารุ่นแรกๆ จะล้มหายตายจากไปตามอายุขัยและลูกหลานรุ่นหลังๆ จะเกิดในพม่า แต่พม่าก็ยังถือว่าไม่มีทางที่จะเป็นคนพม่าได้ เป็นเพียงผู้อาศัยชั่วคราว ถ้าออกจากพม่าไปแล้วจะไม่ให้กลับเข้ามาอีกเด็ดขาด
แม้จะถูกกดดันจากพม่า แต่สถานการณ์ในบังคลาเทศก็ยิ่งยากจนกว่า และเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น พวกโรฮีนจาที่เกิดในพม่า เมื่อหลบหนีไปประเทศบังคลาเทศ ก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมือง แม้จะเป็นคนเชื้อชาติเดียวกันและถือศาสนาอิสลามเหมือนกันก็ตาม มีโรฮีนจาจำนวนมากที่หนีไปบังคลาเทศ บังคลาเทศก็ไม่ให้เข้าประเทศ แต่จัดให้อยู่ในแค้มป์ผู้ลี้ภัยตามชายแดนซึ่งยากลำบากมาก และจะกลับเข้าพม่า พม่าก็ไม่ยอมให้กลับเช้ามา และทำทุกวิถีทางที่จะกำจัดคนพวกนี้ออกไปจากพม่า
ปัญหาจึงอยู่ตรงนี้ว่า คนโรฮีนจาจึงไม่เหมือนผู้ลี้ภัยกลุ่มอื่น และมีจำนวนมากเกือบสองล้านคน ที่อยู่ในความกดดันของพม่าอยู่ตลอดเวลา คนลี้ภัยหรือหนีภัยสงครามจากประเทศลาว เขมร เวียดนาม หรือพวกกะเหรียง หรือชนกลุ่มน้อยอื่น ที่เป็นผู้ลี้ภัยชั่วคราว เมื่อภัยนั้นพ้นไป ก็สามารถส่งกลับประเทศได้ เป็นการให้ที่พักพิงลี้ภัยชั่วคราว (แต่ก็เป็นภาระหนักมาก และอย่าไปหวังว่าประเทศอื่นจะเข้ามาช่วย แม้การรับพวกผู้อพยพไปประเทศที่สาม ก็ใช้เวลานานประมาณ 20 ปี โดยคัดเอาแต่คนหนุ่มสาวที่ไปเป็นกำลังแรงงานได้และมีความรู้ไป ทิ้งประชากรที่ด้อยคุณภาพไว้ให้ประเทศไทยรับเป็นภาระต่อมาจนทุกวันนี้) แต่ผู้ลี้ภัยโรฮีนจาจะเป็นผู้ลี้ภัยถาวร ไม่ว่าประเทศใดที่รับไว้ หมายความว่าต้องรับไว้ตลอดชีวิตตลอดจนลูกหลานที่จะเกิดตามมาในอนาคต ไม่มีทางที่จะส่งกลับไปได้ และ UNHCR ก็ไม่กล้าออกมาสนับสนุนเงินทุนเหมือนกรณีอื่น เพราะกรณีนี้หากมีการตั้งค่าย จะต้องเป็นค่ายถาวรไปไม่รู้ว่าจะจัดการส่งกลับต้นทางได้หรือไม่ (ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางทำได้) และจะตั้งค่ายไปตลอดชีวิตจนถึงชั้นลูกหลานได้อย่างไร ใครจะรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย ในที่สุดก็ต้องกดดันประเทศที่รับไว้ให้หาทางเลี้ยงคนพวกนี้ไปจนตายหรือยอมให้กลายเป็นพลเมือง
ด้วยเหตุนี้ ทั้งสามประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จึงไม่กล้าที่จะรับชาวโรฮีนจามาไว้ในประเทศ ที่เข้ามาแล้วก็ผลักดันกันไปด้วยวิธีการนอกระบบ ด้วยการส่งออกไปทางชายแดนพม่า แต่ทั้งสามประเทศไม่ยอมให้เข้ามาในน่านน้ำตัวเอง ได้แต่ส่งน้ำ ส่งอาหารและซ่อมเรือให้ แล้วผลักดันออกไปในเขตทะเลสากล หรือในน่านน้ำของต่างประเทศ เพราะไม่มีใครที่กล้ารับภาระที่ไม่รู้จบในขณะที่ประเทศเหล่านี้ยังมีปัญหาประชาชนที่ยากจนและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่
ทางตะวันตกที่เคยเสียงแข็งเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ไม่กล้าเอ่ยปากมากนัก เพราะในยุโรปเอง อิตาลีก็ใช้วิธีกันเรือผู้อพยพไม่ให้เข้ามาในน่านน้ำ เพราะอิตาลีเองก็เจอปัญหาผู้อพยพจากอาฟริกาเข้ามาในอิตาลีจำนวนมาก และได้ร้องขอให้ชาติในยูโรช่วย แต่ก็ถูกทอดทิ้งให้รับภาระตามลำพัง
ออสเตรเลียที่มักเน้นด้านมนุษยธรรมสูง ก็เจอปัญหาผู้อพยพทางเรือเข้าออสเตรเลียมากมาย จนออสเตรเลียต้องใช้ทหารเรื่อกันไม่ให้เรือผู้อพยพเข้ามาในน่านน้ำ และใช้วิธีลากเรือผู้อพยพออกนอกเขตน่านน้ำของตนเช่นเดียวกัน หากผู้อพยพจมเรือ ก็จะเอาไปกักกันไว้ในเกาะคริสต์มาส ซึ่งออสเตรเลียถือว่าไม่ได้อยู่ในดินแดนของตน และสร้างค่ายอพยพให้คนเหล่านี้ไว้ และเมื่อไม่ถือว่าอยู่ในดินแดนของตน คนเหล่านี้จึงไม่ได้สิทธิในฐานะผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย (ที่ทั้งออสเตรเลียและอิตาลี เป็นภาคีอนุสัญญานี้ แต่ประเทศในอาเซียนทั้งหมดไม่มีใครกล้าเป็นภาคี เพราะอนุสัญญานี้ให้สิทธิผู้ลี้ภัยมากมาย และกำหนดให้รัฐบาลที่รับผู้ลี้ภัยไว้ต้องดูแลผู้ลี้ภัยดีกว่าที่ดูแลประชาชนของตัวเองเสียอีก)
ประเทศที่เคยทำตัวเป็นผู้ที่มีมนุษยธรรมสูงและชอบตำหนิประเทศอื่นว่าไม่ยอมรับผู้ลี้ภัย ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ ก็ไม่กล้ามีปากเสียงออกมาอย่างเต็มที่ เพราะหากออกหน้ามาจะถูกสวนทันทีว่า ประเทศนั้นจะรับผิดชอบด้านการเงินไหม และจะรับคนพวกนี้ไปประเทศตัวเองไหม จะได้ส่งให้ทันที
UN ก็ไม่มีศักยภาพพอ เพราะมองเห็นแล้วว่าหากเข้าไปรับภาระเต็มๆ ด้วยตัว UN เอง ก็ต้องรับภาระทั้งหมด โดยเฉพาะด้านการเงิน ทั้งๆ ที UN ก็มีปัญหาด้านการเงินอยู่มากแล้ว จะหาเงินมาใช้แต่ละปีต้องรอประเทศผู้บริจาคซึ่งมีปัญหามากในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ถ้ามารับงานนี้เต็มตัว UN จะไม่มีเงินมาจ่าย ต้องตัดเนื้อตัวเอง และจะไปไม่รอดในที่สุด
นอกจากนั้น UN เองก็ไม่มีปัญญาที่จะไปจัดการกับประเทศพม่าให้ลดการกดดันโรฮีนจา และให้รับพวกโรฮีนจากลับ หากพม่ายอมรับกลับ และอยู่ร่วมกันโดยไม่กดดันชาวโรฮีนจา ปัญหาคงจะน้อยไปกว่านี้เยอะมาก
อีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศในแถบนี้ไม่กล้ารับโรฮีนจาไว้และดูแลตามมาตรฐานที่ UN กำหนด เพราะยังมีชาวโรฮีนจาอีกล้านกว่าคนที่รอดูอยู่ หากเห็นว่าได้รับการดูแลดี อีกล้านกว่าคน หรืออย่างน้อยหลายแสนคนพร้อมที่จะเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพม่าที่ต้องการไล่ชาวโรฮิงยาออกนอกประเทศอยู่แล้ว
ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก แต่ประเทศในแถบนี้ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ บรูไน) ไม่มีใครกล้ารับพวกนี้ไว้และปกป้องน่านน้ำของตนเองอย่างหนาแน่น
ปัญหาต่อไปคือคนกลุ่มนี้ คือพวกเหยื่อจากการค้ามนุษย์หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ หลักๆ คือผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง ที่ไปจ้างพวกขบวนการลักลอบพาคนเช้าเมืองให้พาเข้ามายังประเทศที่สาม ซึ่งชาวโรฮีนจาอยากไปมาเลเซียและอินโดนีเซียมากกว่าเนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมด้วยกัน การจ้างพวกนี้พาเข้าเมืองโดยมีค่าจ้าง กรณีจึงไม่เป็นการค้ามนุษย์ แต่เป็นการลักลอบพาคนเข้าเมือง ตามข้อสัญญาและพิธีสารว่าด้วยการลักลอบพาคนเช้าเมืองของสหประชาชาติ (Smuggling of Migrants Protocol) เว้นแต่บางคนที่ถูกนำไปค้าประเวณีหรือไปบังคับใช้แรงงาน จึงจะเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ซึ่งมีจำนวนน้อย แม้แต่การที่ถูกจับไปเรียกค่าไถ่ก็ไม่เข้าข่ายการเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ แต่เป็นเหยื่ออาชญากรรมข้ามชาติ
กรณีนี้จึงอยู่ที่ความร่วมมือของทั้งสามชาติหลัก คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ที่จะต้องร่วมมือกันกำจัดกลุ่มที่ร่วมเป็นเครือข่ายการลักลอบพาคนเข้าเมือง ซึ่งมีทั้ง คนพม่า คนโรฮีนจา คนไทย คนมาเลเซีย และคนอินโดนีเซียอย่างเด็ดขาด โดยใช้กฎหมายใหม่ของไทย คือ พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อย่างเด็ดขาด เพราะคนพวกนี้เป็นต้นตอในการนำคนเหล้านี้ให้ลงทะเลข้ามมา และมาตกระกำลำบากอยู่ในเวลานี้ รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังในการปราบปรามและการกำจัดเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต และเจ้าหน้าที่ต้องไม่เห็นแก่ได้ ต้องไม่รับเงิน และต้องจัดการปราบปรามอย่างจริงจัง ต้องกวาดล้างให้สิ้น เงินเล็กน้อยที่พวกนี้ได้มาจากการทุจริต แต่จะสร้างภาระให้ประเทศไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน
กรณีนี้จึงเป็นการขัดกับความรู้สึกด้านมนุษยธรรมอย่างมาก เพราะมีชาวโรฮีนจาลอยคออยู่ แต่ไม่ประเทศไหนกล้าที่จะรับไว้ เว้นแต่ UN จะสามารถเจรจากับพม่าให้รับกลับคนเหล่านี้กลับไปอยู่ยังแผ่นดินเกิดของตนได้
วิเคราะห์แล้วก็เหนื่อยแทนครับ กับรัฐบาลคนที่ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะเป็นปัญหาที่ยากมาก เป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก และเป็นปัญหาที่อังกฤษทิ้งไว้ให้เมื่อร้อยกว่าปีที่
แล้ว 

จริงๆ แล้วอังกฤษทิ้งปัญหาไว้ให้พม่าอีกหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่มีผลต่อเนื่องจนเห็นได้ชัดคือเรื่องสนธิสัญญาปางหลวง ที่อังกฤษเข้ามาจัดการ จนทำให้พม่าต้องรบกับชนกลุ่มน้อยมา 70 กว่าปีแล้ว



ความเห็นของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ต้องการรับรู้เกี่ยวกับโรฮิงยา

ปัญหามุสลิมโรฮีนจา เผือกร้อนในหลายประเทศ ในภูมิภาค ผลพวงจากอังกฤษ ใช้ชาวโรฮีนจา เป็นทหารรับจ้าง ต่อสู้กับพม่า จนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รัฐบาลพม่าถึงได้แค้น และ ชิงชัง อีกทั้งอังกฤษ ส่งเสริมให้ชาวเบงกอล ที่อยู่ในดินแดนใกล้เคียง อพยพเข้าไปตั้งรกรากในดินแดนอาระกัน ในฐานะผู้ใช้แรงงานในฟาร์ม อังกฤษ ยกเลิกเขตแดนระหว่างเบงกอลและ อาระกัน ทำให้มีไม่ข้อจำกัด ในการอพยพระหว่างดินแดน
รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับ ชาวโรฮีนจาเป็นประชาชนชาวพม่า โดยให้เหตุผลว่าประเทศพม่าเป็นเมืองพุทธ แต่ชาวโรฮีนจาเป็นคนอิสลาม และชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ ไม่ยอมใช้ภาษาพม่าในการสื่อสาร
การหนีออกจากค่ายผู้ลี้ภ้ยที่ Cox's Bazar เพราะมีการปล่อยข่าวว่า สามารถทำางานในไทยได้และทางการมาเลเซียจะให้ที่ทำกิน จึงทำให้มีการลักลอบเข้าประเทศ ทั้ง 2 มาก ที่ผ่านมามาเลเซียให้อยู่ชั่วตราว มีใบอนุญาตทำงานชั้นต่ำ ประเภท 3D or 5D jobs - “dirty, difficult and dangerous”, or with “domestic and dull” โดยหวังว่า UNHCR จะดูแลและจะออกเอกสารรับรองให้ สามารถขอผ่อนผัน ให้อยู่โดยไม่ต้องถูกจับกุม หรือส่งกลับมาตุภูมิ จนกว่าจะเดินทางไปประเทศที่สาม โดย UNHCR เป็นฝ่ายดำเนินการให้
องค์การระหว่างประเทศ ที่มีบทบาทต่อประเทศไทย ในประเด็นสิทธิมนุษยชนมากที่สุดคือ UNHCR รัฐบาลไทย ถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน ของคนไทยด้วยกัน จากกรณีเหตุการณ์ ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จากการนำเสนอข่าว ที่บิดเบือนไปของสื่อต่างประเทศ บางสำนักในประเทศไทย
รัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือ ชาวโรฮินจาตามหลักมนุษยธรรม แต่บนพื้นฐานหลักการ กลุ่มโรฮินจาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง อย่างผิดกฎหมาย (Illegal migration) มิใช่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ (Displaced person from fighting) และมิใช่เป็นผู้อพยพ/ลี้ภัย (Refugee) แนวทางปฏิบัติของทางการไทย จึงต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งทั้งหมด ก็จะถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่ลักลอบหนีเข้าเมือง มาอย่างผิดกฎหมาย
การดำเนินการของไทย จะเป็นมาตรการสกัดกั้น ใน 2 ลักษณะ คือ กรณี ชาวโรฮินจาสามารถเข้าถึงแนวชายฝั่ง จะดำเนินการจับกุมโดยใช้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ กองกำลังป้องกันชายแดน ทหารเรือ และตำรวจน้ำ ก่อนที่จะส่งมอบให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินคดี และผลักดันต่อไป กรณี สามารถจับกุมได้ในขณะยังไม่ขึ้นฝั่ง จะใช้ วิธี การผลักดัน
แต่เนื่องจากการที่ชาว โรฮินจา ถูกปฏิเสธจากทางการพม่า และการส่งกลับแบบที่ เคยทำในช่วงเวลาก่อนปี 2555 ไม่ได้ถูกยอมรับจากรัฐบาลพม่า อีกต่อไปแล้ว และในปัจจุบัน การควบคุมภายใต้ ตม. นี้ ที่ทางรัฐบาลไทยได้ปฏิบัติไปนั้น ก็เพื่อรอการส่งต่อไป ยังรัฐชาติอื่น ๆ ที่ยอมรับสถานะ ของชาวมุสลิมโรฮินจา


***************************************************************************
ชาวโรฮีนจาลักลอบ เข้าเมืองไทย ทางทะเล ด้านจังหวัดระนอง และ พังงา ร้อยละ 80 เป็นชาวโรฮีนจาที่มีภูมิลำเนา ในรัฐจิตตะกอง บังกลาเทศ และบางส่วนหลบหนี ออกจากศูนย์อพยพ Cox's Bazar ส่วนที่เหลือ อีกประมาณร้อยละ 20 เป็นชาวพม่ามุสลิม เชื้อสายโรฮินจาจาก จังหวัดมองดอ รัฐอารกัน ชาวโรฮีนจา ทั้งสองกลุ่มลักลอบมาขึ้นบก ที่จังหวัดระนอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

1. กลุ่มโรฮีนจา ที่เข้าร่วมกับมุสลิมหัวรุนแรง ในบังกลาเทศ (RSO) ในการต่อสู้เพื่อเอกราช จากรัฐบาลทหาร กลุ่มนี้จะผ่านการฝึกใช้อาวุธ และความรุนแรง และยังมี ชาวโรฮีนจา ทำธุรกิจผิดกฎหมายทีเกี่ยวข้อง กับอาชญากรรมข้ามชาติ ในเรื่อง การลักลอบ นำบุคคลต่างด้าวไปประเทศที่สาม การทำเอกสารปลอม การค้าอาวุธ และการค้ายาเสพติด โดยการ สนับสนุนจาก RSO โดยมีเครือข่ายในประเทศไทย มาเลเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ และฝรั่งเศส

2. กลุ่มโรฮีนจา ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง กับมุสลิมหัวรุนแรง แต่มีความแร้นแค้น ต้องการชีวิตที่ดีกว่า กลุ่มนี้จะเดินทางข้ามพรมแดนพม่า เข้าบังกลาเทศ เพื่อไปพบกับตัวแทน หรือเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ที่เมือง Cox' Bazar หรือเมืองจิตตะกอง แล้วจึงลงเรือมุ่งหน้ามา ประเทศไทย เพื่อ ขึ้นฝั่งที่ จังหวัดระนอง หรือพังงา โดยมีนายหน้า รอรับขึ้นฝั่ง มีจุดมุ่งหมายปลายทางที่ มาเลเซียเป็นหลัก ขบวนการนี้มีการจัดการ อย่างเป็นระบบ โดยมีนายหน้าชาวพม่าโรฮีนจา ที่อยู่ในไทย เป็นผู้ประสานงาน กับนายหน้าชาวไทย และเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อดำเนินการ ต่อไป


อีกมุมมองหนึ่ง

โรฮิงญา...ฝรั่งทำเวร แต่ทำกรรมตกที่ไทย

สื่อต่างประเทศโหมกระพือข่าวพบหลุมฝังศพชาวโรฮิงญาจำนวนมากบนเขาในอำเภอสะเดา ห่างชายแดนไทยมาเลเซียไม่ถึง 300 เมตร ทำให้เข้าทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนจอมปลอม และชาติตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาฉวยโอกาสซ้ำเติมประเทศไทยเรื่องลักลอบค้ามนุษย์ทันที โดยไม่พิจารณาถึงต้นสายปลายเหตุว่า จริงแล้วต้นตอของปัญหามาจากฝรั่งตาน้ำข้าวทั้งหลายได้ก่อขึ้น
นายแบรด อาดัม ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ที่คอยจับผิดออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในทุกเรื่อง ตั้งแต่การจับกุมผู้ต้องหาก่อการร้าย, เรื่องศาลตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 จนถึงเรื่อง กสทช.ที่มีคำสั่งปิดทีวี.ปากเสียงนักการเมืองการเดนทรราช
ทันทีที่สื่อต่างประเทศเสนอข่าวพบหลุมศพชาวโรฮิงญานายแบรด อาดัม ฉวยโอกาสออกแถลงการณ์ประณามไทยและเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เข้ามาร่วมสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และเรียกร้องให้ประเทศไทยย้ายผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา จากศูนย์พักพิงชั่วคราวและสถานที่กักกันของกองตรวจคนเข้าเมือง มาอยู่ในสถานที่ปลอดภัยมีสุขอนามัยดี
“ประเทศไทยควรให้หน่วยงานสิทธิมนุษยชน มาสอบสวนนำผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว” นายแบรดอาดัม เขียนในแถลงการณ์ “การลักลอบค้ามนุษย์ในประเทศไทย เป็นเรื่องอยู่เหนือการควบคุมมานานแล้ว บางครั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเคยยอมรับกับฮิวแมนไรท์วอทช์ และหน่วยงานอื่นๆ...
...แต่ละปีชาวโรฮิงญา หลายหมื่นคนหลบหนีความทุกข์ยากแร้นแค้นจากบังกลาเทศ และหลบหนีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การข่มเหงรังแกในประเทศพม่า มาพบกับชะตากรรมที่เลวร้ายกว่าในประเทศไทย ที่พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบจากขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคน...กลุ่มสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนที่ทำข่าวสืบสวนสอบสวน รู้มานานหลายปีแล้วว่า เจ้าหน้าที่รัฐของไทยเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์”ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ที่นายแบรด อาดัมมุ่งเป้าโจมตีประเทศไทย
“...เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างโปร่งใส ประเทศไทยต้องให้เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนจากยูเอ็น เข้ามาร่วมสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ” นายอาดัมกำกับประเทศไทยผ่านแถลงการณ์อคติของเขา
ส่วนสหรัฐอเมริกาที่เคยลดความน่าเชื่อถือของไทยในเรื่องปราบปรามการค้ามนุษย์ มาอยู่ในอันดับต่ำสุดคือ เทียร์ 3เมื่อกลางปีที่แล้ว แถลงผ่าน นายเจฟฟีย์ ราธเค โฆษกกระทรวงต่างประเทศว่า “ขอให้กระบวนการสืบสวนมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปอย่างโปรงใสน่าเชื่อถือเรามีข้อมูลเรื่องข้าราชการไทยบางคน มีส่วนรู้เห็นกับขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลสหรัฐบันทึกเอาไว้นานแล้ว...”
เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งฮิวแมนไรท์วอทช์และกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เน้นในแถลงการณ์ว่า รู้เรื่องลักลอบค้ามนุษย์มานานแล้ว แต่เพิ่งมาเอาเป็นเอาตายกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่กำลังปราบปรามขบวนการชั่วร้ายนี้อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถลงการณ์ของนายอาดัมเองยังเน้นว่า “ชาวโรฮิงญาหนีความแร้นแค้นมาจากบังกลาเทศ และหนีการข่มเหงรังแกและการละเมิดอย่างร้ายแรงจากพม่า...” แต่มาชี้นิ้วด่าประเทศไทยซึ่งเป็นปลายเหตุของปัญหาเพียงอย่างเดียว
ถ้ามองปัญหาอย่างลึกซึ้งจะพบว่า โรฮิงญาประสบชะตากรรมเดียวกันกับคนไร้สัญชาติหลายเผ่าพันธุ์ รวมทั้งคนไทยไร้สัญชาติที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนเทือกเขาตะนาวศรี เพราะสมัยที่อังกฤษยึดครองพม่าอยู่ใต้อาณานิคม จัดแจงปักปันเขตแดนเอาตามอำเภอใจ จนถึงวันนี้คนไทยหลายพันคนที่อยู่ตามแนวชายแดน ตกระกำลำบาก เพราะไม่มีบัตรประชาชนไทย
แต่ในส่วนของชาวโรฮิงญาหนักหนาสาหัสกว่า เพราะอังกฤษทิ้งปัญหาไว้ คือเมื่อครั้งที่อังกฤษยึดครองพม่า อังกฤษนำเอามุสลิมจากอินเดีย จากเมืองจิตตะกอง ในบังกลาเทศ และมุสลิมที่อยู่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ ติดกับชายแดนบังกลาเทศ มาใช้แรงงานในพม่า
พม่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนต้องกล้ำกลืนอยู่ร่วมกับมุสลิมที่อังกฤษเรียกว่า “อารากัน” ตั้งแต่นั้นมา คนพม่าแยกรัฐยะไข่ออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ชาวพุทธอยู่เรียกว่ายะไข่ ส่วนที่มุสลิมอยู่เรียกว่าอาระกัน คนสองศาสนาอยู่รวมกันอย่างกล้ำกลืนและกระทบกระทั่งกันตลอดมา แต่ไม่เกิดเหตุรุนแรงเพราะอังกฤษเจ้านายเหนือหัว ถือปืนจ่อหัวอยู่ทั้งสองฝ่าย
แต่เมื่อถึงวันที่ต้องถอนตัวออกจากพม่า อังกฤษได้ทิ้งปัญหาไว้ด้วย สัญญาปางหลวง (Panglong Agreement) เมื่อพ.ศ.2490 สัญญาปางหลวงเป็นระเบิดเวลา เพราะอังกฤษได้ทำข้อตกลงให้พม่าเป็นสหพันธรัฐ คือให้ทุกรัฐมีเขตปกครองตนเองที่อยู่ภายใต้บริหารของรัฐบาลกลางย่างกุ้ง
ชนกลุ่มน้อย เช่น โกกัง คะฉิ่น ฉาน (ไทยใหญ่) มอน ว้าปะโอ ฯลฯ ต่างมีกองกำลังทหาร มีรัฐบาลท้องถิ่นของตัวเอง และสู้รบกับรัฐบาลพม่าตั้งแต่วันแรกที่ ลงนามสัญญาปางหลวงยืดเยื้อมาถึงวันนี้
ส่วนรัฐอาระกัน หรือยะไข่ ซึ่งมีปัญหาแตกแยกศาสนาตั้งแต่อังกฤษนำชาวมุสลิมจากอินเดีย บังกลาเทศและชายแดนรัฐยะไข่มาใช้แรงงานในพม่า ไม่อยู่ในสัญญาปางหลวง การกระทบกระทั่งระหว่างคนสองศาสนาเกิดขึ้นตลอดมา จนกระทั่งถึงยุคเผด็จการทหารของ นายพลซอ หม่อง ต้นทศวรรษ 2530 มุสลิมในรัฐยะไข่ถูกกวาดล้างโดยรัฐบาลเผด็จการทหารจนต้องอพยพหนีตายไปอยู่ชายแดนบังกลาเทศ-พม่านับแสนคน
เมื่อมุสลิมหนีตายไปอยู่ตามชายแดนนับแสนคน ทำให้ข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติเพื่อผู้อพยพ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์จัดตั้งศูนย์อพยพขึ้นรับรองมุสลิมที่หนีตายไปจากรัฐยะไข่และมุสลิมที่มาจากจิตตะกองในบังกลาเทศ ในค๊อกบาร์ซาร์เมืองชายแดน บังกลาเทศ-พม่า ต่อมาค่ายนี้รู้จักกันในชื่อว่า “ค่ายอพยพโรฮิงญา”
ต้นปี 2532 มีรายงานว่าค่ายอพยพค๊อกบาร์ซาร์ ขาดแคลนแออัดและวุ่นวายมาก ทางบังกลาเทศ กับยูเอ็นเอชซีอาร์หาทางระบายผู้อพยพออกจากค่าย มีข่าวมาเป็นระยะๆ ว่า ชาวโรฮิงญาหนีจากค่ายผู้อพยพมายังชายแดนไทย ผู้เขียนเคยทำรายงานพิเศษเรื่องนี้ที่แม่สอด และจังหวัดระนองซึ่งเป็นจุดพักสำคัญของผู้อพยพโรฮิงญา การทำรายงานพิเศษในเชิงสอบสวนครั้งนั้น พบว่า เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์บางคนมีบทบาทสำคัญจัดการให้โรฮิงญาหนีมาถึงชายแดนไทย แต่ข่าวผู้อพยพโรฮิงญาในยุคนั้นไม่เป็นที่สนใจต่อชาวโลกและนักสิทธิมนุษยชนมากนัก อาจเป็นเพราะสมัยนั้นผู้อพยพทางเรือชาวเวียดนาม ผู้อพยพจากเขมร และประเทศลาวอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวประเทศไทยนับล้านๆ คน
ข่าวลักลอบขนชาวโรฮิงญาเข้าประเทศไทยเพื่อผ่านไปยังประเทศมุสลิม เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นที่สนใจต่อชาวโลกมากขึ้น หลังจากพม่าเปลี่ยนการปกครองจากเผด็จการทหาร มาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง การรังเกียจเชื้อชาติศาสนารุนแรงขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 เกิดจลาจลขึ้นในรัฐยะไข่ ทำให้ชาวโรฮิงญาตายหลายร้อยคน แต่ตัวเลขเป็นทางการแจ้งว่าตายแค่ 28 คน
ตั้งแต่นั้นมา จลาจลอันเกิดจากความขัดแย้งศาสนาระหว่างชาวพุทธกับชาวอาระกัน (โรฮิงญา) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนยูเอ็นและนานาชาติ ต้องกดดันรัฐบาลพม่าให้คุ้มครองคนมุสลิม รัฐบาลของนายเต๊ง เซ่งจึงตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก การหาทางระบายชาวโรฮิงญาออกจากพม่าจึงได้ทำกันเป็นขบวนการใหญ่ ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและยูเอ็นเอชซีอาร์ ทำปากว่าตาขยิบ
แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ยืนยันว่า ในบางครั้งเรือรบพม่าคุ้มครองเรือผู้อพยพโรฮิงญาออกมาจนถึงน่านน้ำสากล จึงไม่แปลกใจที่ผู้ต้องหาชาวพม่า นาย So Naign ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อนายอันวา จึงสามารถโทรศัพท์ไปเรียกค่าไถ่ข่มขู่ญาติของเหยื่อในพม่าได้ แสดงว่าผู้ร่วมขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา ต้องสมคบกันระหว่างเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในพม่า กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเมืองไทย ส่วนผู้ต้องหาระดับนายกเทศมนตรี ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล ฯลฯ ที่จับมาได้เป็นเพียงปลาซิวปลาสร้อย ถ้าจะถอนรากถอนโคนจริงต้องจัดการตั้งแต่ยูเอ็นเอชซีอาร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในพม่า และข้าราชการระดับสูงในประเทศไทย

จากการติดตามความเคลื่อนไหวโรฮิงญา เมื่อครั้งทำงานกับสำนักข่าวต่างประเทศพูดได้เต็มปากว่า“โรฮิงญา...ฝรั่งทำเวร แต่กรรมตกอยู่ที่ไทย”
ผู้ต้องหาระดับนายกเทศมนตรี ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล ฯลฯ ที่จับมาได้ เป็นเพียงปลาซิวปลาสร้อย ถ้าจะถอนราก
ถอนโคนจริง ต้องจัดการตั้งแต่ยูเอ็นเอชซีอาร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในพม่าและข้าราชการระดับสูงในประเทศไทย

4 ความคิดเห็น:

  1. ชัดเจน และทำให้เข้าใจปัญหามากขึ้น .. สงสัยอยู่อย่างเดียวคือ เรื่องแบบนี้ ทำไมถึงเพิ่งจะมาเปิดเผยตอนนี้ ทำไมถึงไม่แถลงไข ให้คนไทยรู้เรื่องตั้งนานมาแล้วล่ะ..?! มีใคร หรืออะไร 'เย็บปาก' เอาไว้หรือ..?!?/

    ตอบลบ
  2. แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
    งานนี้ลำพังไทยไม่ไหว ไทยต้องร่วมมือ กับมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย สร้างอำนาจต่อรองกับ UNHCR ให้รับชาวโรฮีนจา กลับคืนค่ายพัก ที่บังกลาเทศ เลิกกดดันไทย และประเทศอื่นๆ ซึ่งตรงกับความต้องการ ของบรรดานักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ที่ต้องการให้ UNHCR เข้ามาจัดการเรื่องนี้ด้วย

    ตอบลบ
  3. ปัญหาโรฮินจา หากคิดแก้จริงจัง ไม่ยากเย็นเลย แค่แก้ที่ต้นเหตุ คือตัวองค์กร UNHCR ซึ่งบริหารศูนย์ผู้อพยพ ที่ Cox's Bazar เละเทะ ล้มเหลว ต้องเข้าไปจัดการใหม่แก้ไขให้ดี ขณะนี้เหลือชาวโรฮีนจา อยู่ไม่มากนัก การแก้ปัญหา จีงไม่ต้องตั้งค่ายใหม่ในไทย แค่รวบรวมชาวโรฮีนจา ที่หลบหนีอยู่ในประเทศไทย ที่ถูกคุมตัวไว้ ส่งกลับเข้าค่ายที่ Cox's Bazar ก็จบ
    โรฮีนจา ที่เป็นปัญหา เป็นชาวบังกลาเทศ ผสมผสานกับ โรฮีนจา ที่พักพิงอยู่ในศูนย์ผู้อพยพ Cox's Bazar ในบังกลาเทศ ที่ UNHCR ควบคุมดูแล ซึ่งมีปัญหาการดูแล และปล่อยให้ นายหน้าค้าแรงงาน ปล่อยข่าวให้ความหวัง ชักจูงว่า ไทย และ มาเลเซีย ต้องการแรงงานโรฮีนจา พวกนายหน้า มิใช่มีแต่คนไทย มีนายหน้าชาวพม่าด้วย มากกว่าในไทยแยะ โดยการรู้เห็นเป็นใจ กับทหารพม่า โรฮิงญาในค่าย ต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ ในการดำรงชีวิต จึงหาทางหนีจากค่าย ชาวบังกลาเทศ ที่ยากจน คอยฉวยโอกาสนี้ หลบหนีออกมาด้วย โรฮีนจาส่วนหนึ่งมาจากรัฐยะไข่ โรฮีนจาที่เดินทางออกมา จึงมีจำนวนมากขึ้น กว่าแต่ก่อน
    รัฐบาลที่ผ่านมา ช่วงก่อนหน้าลุงตู่ ล้วนไม่ได้ให้ความสนใจ แก้ปัญหา เปิดโอกาส ให้ขบวนการค้ามนุษย์กำเริบ โรฮีนจา เมื่อตามนายหน้าที่พามา จะเข้าพักพิงอยู่ในป่าเขา เกาะแก่งต่างๆ จากนั้นนายหน้า จะคัดเลือกตัว เอาเฉพาะคนที่แข็งแรง คนที่อ่อนแอก็ถูกทิ้ง อยู่ในที่หลบซ่อน ไม่ได้รับการดูแล หรือรักษาเมื่อเจ็บป่วย ปล่อยให้ตายไปเป็นจำนวนมาก

    ตอบลบ
  4. ต้องประจาน ......ภาพเรือผู้อพยพชาวคิวบา แห่เข้าสหรัฐฯ ผู้อพยพในทะเลจะถูกส่งตัวกลับคิวบา แม้ว่ารัฐบาลประธานาธิบดีบารัคโอบามา จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ขั้นปกติ กับทางการคิวบาแล้ว แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนนโยบายคนเข้าเมือง หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ เพิ่มการตรวจตรา นอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา เรือผู้อพยพ ถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เข้าขัดขวางกลางทะเล ซึ่งพยายามข้ามช่องแคบฟลอริดา ที่มีระยะทางกว้าง 145 กิโลเมตร กั้นระหว่างคิวบากับสหรัฐฯ ที่มีระยะทางกว้าง 145กิโลเมตร กั้นระหว่างคิวบากับสหรัฐฯ ชุกชุมไปด้วยฉลาม กระแสน้ำรุนแรง และมีพายุพัดกระหน่ำ
    ภายใต้นโยบาย “สู่อิสระภาพ” ของรัฐบัญญัติ CubanAdjustment Act ของสหรัฐฯ ผู้อพยพเข้าเมืองชาวคิวบา ซึ่งสามารถขึ้นฝั่งเหยียบดินแดนสหรัฐฯ ได้จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในสหรัฐ ได้ตรงกันข้าม กับคนที่ถูกสกัดกลางทะเล จะต้องถูกส่งกลับประเทศ หรือประเทศที่สาม“
    Click here
    https://www.facebook.com/photo.php?fbid=557740114425681&set=a.109752029224494.1073741828.100005690923797&type=1&theater

    ตอบลบ