เพลงฉ่อยชาววัง

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

ไม้หนึ่ง ก.กุนที


ล่วงลับแล้ว...คงไม่ไปสวรรค์
เป็นผีบ้าน ผีทุ่ง ผีป่าเขา
คอยดูแลราษฎรพี่น้องเรา
เป็นขวัญทัพปลุกเร้ากำลังรบ


ล่วงลับแล้ว...อุบัติเป็นประชาทิพย์
คือตายสิบ !.  เกิดแสนไม่รู้จบ
ทุกชิ้นส่วนเรือนร่างองคาพยพ
ทับถมทบสร้างถนนหนทางไท

ชีวิตดับ...ยังระยับปณิธาน
ทอดฉายฉานใดไม่อาจบดบังได้
คมกระสุน สามารถตัดขั้วหัวใจ
แต่ไม่อาจตัดฝันใฝ่สู่เสรี


ธารโลหิต ทะลักโชก เสื้อผ้าชุ่ม
สาวหนุ่มร่วง กลางปืนก้อง กังวานถี่
ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง
ชีพผู้กล้าอุทิศพลี
โรยราหรี่....แล้วจรัส   วีรชน !.



ล่วงลับแล้ว...พวกเขาไม่ไปสวรรค์
กลั่นวิญญาณสิงสู่ทุกแห่งหน
เป็นหนึ่งเดียวกับนานาโลกสากล
อารยชาติพลเมือง รับเชิดชู



ท่านหลับแล้ว...ปลุกคนตื่น  วีรชน !.
ล้มพ่าย...ก็เริ่มต้นอีกครั้งสู้
สู้พ่าย...สู้ใหม่...ได้ลองดู
เรียนรู้ซ้ำ ให้เดินสู่ ชัยชนะ

สู้พ่าย...สู้ใหม่...ได้ลองดู
เรียนรู็ซ้ำ ให้เดินสู่ ชัยชนะ !!!

---------------------------------------------------------
หมายเหตุ : กวีบทนี้เขียนและอ่านในวันที่ 25 เมษา 2552 ที่ท้องสนามหลวง
กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตยจัดงานปล่อยลูกโป่งสีขาวส่งวิญาณวีรชน
เป็นวันแห่งการรวมตัวกันอย่างแข็งแรงครั้งแรก หลังการล้อมปราบเมื่อสงกรานต์เลือดปีนั้นทันที่ที่ พรก.ฉุกเฉินเลิกประกาศใช้
สงกรานต์เลือดที่ฝ่ายทหารเผด็จการทรราชย์ปฏิัติการอย่างหมดจดงดงามที่สามเหลี่ยมดินแดง เก็บกวาดทุกซากศพ
ปรากฏเพียง 2 เรือนร่าง ในแม่น้ำเจ้าพระยา

นำมาเผยแพร่อีกครั้ง เพราะเหตุการณ์ในวันที่ 25 นั้น ได้ถูกบันทึกไว้เป็นคลิปวิดีโอ แต่กระบวนการตัดต่อทำให้เนื้อหาของบทกวีบางท่อนสูญหายไป มีผู้ทักท้วงแสดงความสงสัยไถ่ถาม อีกทั้งในรวมเล่มบทกวีชื่อ "สถาปนาสถาบันประชาชน" ก็ไม่ได้รวบรวมบทกวีชิ้นนี้ไว้
จึงขอนำเสนอต้นฉบับไว้ในบันทึกนี้

ล่วงลับแล้ว...อุบัติเป็นประชาทิพย์

                          
บินไปเถิดพิราบน้อย.....

โลกใหม่คอยรอรับอยู่เบื้องหน้า

โลกที่ไม่มีคนโลภด้วยโกรธา

โลกโสภาด้วยวิถี....เสรีชน



โลกใหม่รอโอบกอดเจ้าเท่าชีวิต

โลกที่มียุติธรรมขีด...ไร้กังขา

โลกที่มีแต่เท่าเทียมเพื่อนำพา

โลกธรรมดาประชาธิปไตย...


"ที่เราคอย"

ไว้อาลัยโดย.....
Ake Auttagorn


Saruda Cheangkarat อ.หวานคะอย่าร้องไห้อีกนะคะขอมอบสี่บรรทัดนี้แด่คุณไม้หนึ่งก.กุณฑี ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทยค่ะ
บินไปเถิด นกสีขาว ก.ไม้หนึ่ง
ไปให้ถึง ดวงดาว ที่ใฝ่่ฝัน
ทางช้างเผือก ส่องสกาว พราวแสงจันทร์
เส้นทางนั้น สมศักดิ์ศรี เสรีชน....


รู้จักไม้หนึ่งหรือยัง ไม่ค่อยรู้จัก...คลิกเลยค่ะ

ไม้หนึ่ง ก.กุนที




วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

หลังประตูปิดลับ มีแค่ชายแก่หนึ่งคน กับความหวาดกลัวลมๆแล้งๆ เท่านั้น

เรื่องเล่าเล็กๆในเดือนมีนาคม 2557 เริ่มต้นจากคราวซวยของชายแก่คนหนึ่ง ก่อนจะเดินทางมาถึงบัลลังก์หรูในตึกใหญ่ ที่ซึ่งบรรจุความกลัวอันยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคสมัย
.....................................................................................
ชายแก่คนหนึ่ง คือจำเลยในคดีหลังประตูปิดลับ ในปีที่กำลังจะถูกศาลพิพากษา มีอายุ 64 ปี ขณะถูกจับมีอายุ 56 ปี มีอาชีพขายของเร่ แบบ "แบกะดิน" ปูเสื่อกับพื้น ในแผงของชายแก่จะมีทั้งเสื้อ หมวก พัด สายรัดข้อมือ ซีดีเก่า หนังสือเก่า ฯลฯ งานเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ งานเฉลิมพระชนมพรรษา ของที่เอา ไปขายก็จะเปลี่ยนไปตามเทศกาล
เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ช่วงเริ่มต้นของไฟร้อนทางการเมืองก่อนที่จะลุกลามใหญ่โต ในงานชุมนุมทางการเมืองที่สวนลุมพินี ที่เรียกว่า "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" ชายแก่ไปขายของตามปกติ มีคนเอาหนังสือมาฝากขาย คนแรกเอาหนังสือฟ้าเดียวกันปกโค้กมาฝาก คนที่สองเอาหนังสือกงจักรปีศาจมาฝากสองเล่ม ชายแก่รับไว้
ชายแก่ขายหนังสือกงจักรปีศาจได้หนึ่งเล่มราคา 500 บาท จะต้องแบ่งให้คนฝากขาย 300 บาท และเป็นกำไรของตัวเอง 200 บาท แต่ยังไม่ทันได้แบ่งเงินกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีก็เข้ามาจับกุม เบื้องต้นตั้งข้อหาผิดพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ฐานขายหนังสือฟ้าเดียวกันซึ่งเป็นหนังสือต้องห้าม
คดีขายหนังสือฟ้าเดียวกันตำรวจสั่งไม่ฟ้อง แต่ 7 ปีถัดมา การขายหนังสือกงจักรปีศาจเป็นเหตุให้อัยการส่งเรื่องฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามมาตรา 112 วันส่งฟ้องเจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิซึ่งจะเป็นผู้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวให้ เตรียมเอกสารมาผิดพลาดเล็กน้อย คืนนั้นชายแก่เข้าไปนอนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในเรือนจำ



กุมภาพันธ์ 2557 เดือนแห่งความรัก ชายแก่เดินทางมาขึ้นศาลที่ห้องพิจารณาคดี 501 หน้าห้องมีกระดาษแปะไว้ว่า "พิจารณาลับ (ห้ามเข้า)" เพื่อนของลุงที่จะมาให้กำลังใจเข้าฟังไม่ได้ ศาลสั่งพิจารณาลับเพราะเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อ่อนไหวที่สุดในสังคม เพราะหนังสือกงจักรปีศาจ หน้าปกเขียนไว้ว่า "บทวิเคราะห์กรณีสวรรคต ของในหลวงอานันท์ฯ" 
ทั้งที่ความจริงเบื้องหลังการสวรรคตจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ใช่ประเด็นที่ต่อสู้กันในคดี ประเด็นของจำเลยเพียงต้องการบอกว่า หนังสือนั้นมีคนมาฝากขาย ไม่เคยอ่าน ไม่รู้เนื้อหาข้างใน จึงไม่มีเจตนา ย่อมไม่มีความผิด แต่ด้วยความกลัวว่าการพิจารณาคดีจะทำให้คนรับรู้เนื้่อหาในหนังสือกันมากขึ้น ศาลจึงสั่งพิจารณาลับ 
ไม่ใช่คดีแรก อย่างน้อยก็เป็นคดีที่สามแล้วในรอบหลายปีมานี้ ต่อจากคดีดา ตอร์ปิโด และคดีป้ายผ้าลึกลับที่ปัตตานี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เคยประทับตรารับรองแล้วว่า การพิจารณาคดีมาตรา 112 แบบปิดลับนั้น ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
พอเห็นคนอื่นเดินไปถ่ายรูปป้ายห้ามเข้า ชายแก่ก็เดินเอามือถือเก่าๆ ของตัวเองไปถ่ายรูปเก็บไว้บ้าง พร้อมกับบ่นเสียดายที่คนอื่นเข้าไม่ได้ เพราะอยากให้คดีของตัวเองเป็นคดีตัวอย่างต่อไปในอนาคต
ตำรวจสันติบาล ตำรวจที่จับ พนักงานสอบสวน พยานที่มาให้ความเห็น รวมแล้วพยานโจทก์ทุกคนที่จะมาบอกว่าจำเลยมีความผิด ไม่มีใครเคยอ่านหนังสือจบทั้งเล่มเลย หรือไม่ ต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามถึงเนื้อหาในหนังสือ 
พยานโจทก์คนหนึ่งที่มาให้ความเห็น ว่าข้อความบางส่วนในหนังสือนั้น "หมิ่นฯ" เมื่อถูกถามว่าข้อความนั้นเกี่ยวกับอะไร อึกอักอึกอัก ตอบว่าเกี่ยวกับรัชกาลที่ 8 ถามว่ารัชกาลที่ 8 อย่างไร อึกอักอึกอัก ตอบว่า การสวรรคต ถามว่า "หมิ่นอย่างไร" อึกอักอึกอัก ตอบว่าไม่เหมาะสม ขนาดอัยการและศาลบอกว่า ให้พูดเลย สามารถพูดได้ ก็ยัง อึกอักอึกอัก ไม่ยอมตอบ
เมื่อทนายความถามศ.ธงทอง จันทรางศุ ว่าสถิติคดีมาตรา 112 ที่สูงขึ้นเป็นผลดีหรือผลเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลก็รีบเบรกบอกว่าเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ศาลไม่อนุญาตให้ถาม ในอีกนัยหนึ่ง คือ ศาลอาจไม่พร้อมที่จะได้ยินคำตอบนี้ตรงๆ
พยานโจทก์หลายปาก ที่มีความจงรักภักดียอมรับว่า เมื่ออ่านข้อความบางส่วนแล้วไม่เชื่อตามนั้น แต่ไม่แน่ใจว่าสังคมที่คนมีวุฒิภาวะหลากหลายอ่านแล้วจะเชื่อหรือไม่ หรือพูดอีกอย่างว่า ตัวเองมีวิจารณญาณพออ่านได้ไม่เป็นไร แต่กลัวว่าคนอื่นอ่านแล้วจะไม่ดี
เมื่อฝั่งจำเลยต้องการสืบพยานปากนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในฐานะพยานคนเดียวในคดีนี้ที่อ่านหนังสือจบทั้งเล่ม และอธิบายเนื้อหาของหนังสือได้ ศาลพยายามจะไม่ให้นำสืบอ้างว่าไม่เกี่ยวกับคดี กลัวว่าจะถามนอกประเด็น แต่ฝั่งจำเลยยืนยันที่จะสืบให้ได้ ศาลจึงยอม ด้วยความกลัวอย่างมากว่าจะมีการเอาพยานมาพูดเกี่ยวกับประเด็นกรณีสวรรคตที่ผ่านไปแล้ว 
แต่สุดท้ายอาจารย์สุลักษณ์ก็ไม่ได้มาเบิกความอะไรเกี่ยวกับกรณีสวรรคตเลย พูดแต่ว่าประวัติหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไร เมื่ออ่านหนังสือจบแล้วเลือกเชื่ออย่างไร หากมีนักข่าว ญาติ เพื่อน หรือผู้สังเกตการณ์ใดๆ นั่งฟังตลอดการพิจารณาคดี ก็คงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเนื้อหาของหนังสือกงจักรปีศาจที่ว่าไป "หมิ่นฯ" นั้นเป็นอะไรยังไง
แม้อาจจะพอเดาเองได้ แต่ต่อให้เดาไปก็ไม่มีข้อมูลประกอบอะไรจะเก็บไปคิดต่อได้อยู่ดี
ในห้องหลังประตูปิดลับ ตลอด 5 วันของการสืบพยาน ไม่ปีศาจร้ายที่พร้อมจะหลุดออกมาทำลายโลกแต่อย่างใด มีแค่ชายแก่หนึ่งคน กับความหวาดกลัวลมๆแล้งๆ เท่านั้น
สุดท้ายศาลนัดฟังคำพิพากษาชะตาของลุงวันที่ 31 มีนาคม 2557 โดยไม่อนุญาตให้ทนายความคัดบันทึกคำเบิกความพยาน แม้ว่าจะไม่มีเนื้อหาอะไรผิดกฎหมายอยู่ในนั้นเลยก็ตาม โดยอ้างว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ทั่วไปของประชาชน จึงไม่อนุญาตให้คัด
... โอเค เข้าใจได้ เนื่องจากจำเลยและทนายความไม่ได้บันทึกคำเบิกความพยานมาไว้ดูเพื่อวางแนวทางต่อสู้คดี ประเทศชาติจึงสงบเรียบร้อยมาจนถึงทุกวันนี้นี่เอง
เป็นการสืบพยานคดี 112 ที่เงียบเหงา เพราะไม่มีใครเข้าฟังได้ จึงไม่มีญาติมิตร กองเชียร์ ฝรั่งต่างชาติ นักข่าว หรือใครหน้าไหนมาให้กำลังใจ 
บนเก้าอี้ม้านั่งยาวสามแถว ที่น่าจะรองรับคน 50-60 คนได้สบายๆ มีชายแก่คนหนึ่งนั่งอยู่เพียงลำพัง ผมแกขาวหมดหัว แต่ตัดสั้นเกรียน เพราะติดใจมาจากทรงที่เรือนจำบริการตัดให้ฟรี ในมือชายแก่ถือปากกาและสมุดโน็ต แต่ก็ไม่ค่อยได้จดอะไร เพราะแกไม่รู้จะจับประเด็นไหนมาเป็นเรื่องสำคัญ
ชายแก่นั่งง่วงบ้าง หาวบ้าง เบื่อบ้าง เอนตัวเอามือท้าวเก้าอี้บ้าง บางจังหวะก็ยิ้มออกบ้าง พอสืบพยานเสร็จแต่ละปากชายแก่ก็ถามทนายความแต่เพียงว่า "ต่อไปใคร?" "นัดอีกทีวันไหน?" "บ่ายนี้ต้องอยู่ไหม?" 
มันคงน่าแปลกดีที่ในวัยบั้นปลายของชีวิต ชายแก่คนหนึ่งต้องมานั่งฟังกระบวนการอะไรที่ใช้ภาษาแปลกๆ เข้าใจยาก แต่ภาษายากๆ เหล่านี้แหละอาจเป็นตัวตัดสินว่าช่วงเวลาที่เหลืออยู่ข้างหน้าว่าแกจะต้องไปใช้ชีวิตที่ไหน และมันคงน่าแปลกที่แม้แกจะมีเพื่อนฝูงครอบครัวคอยเป็นห่วงอยู่บ้าง แต่ในห้องแอร์ใต้บัลลังก์อันหรูหรานั้น เมื่อมองซ้ายมองขวาแล้วไม่เห็นมีใครอยู่ข้างๆ เลย
หลังสืบพยานเสร็จสิ้น การต่อสู้อย่างเต็มที่ได้ผ่านไปแล้ว ชายแก่ยังขับรถกลับบ้านที่หนองแขมคนเดียวเงียบๆ ยังไม่เข้าใจว่าทำไมใครๆ ก็มีหนังสือกงจักรปีศาจวางขายกันอยู่ทั่วไปแต่แกต้องมาถูกจับคนเดียว และยังคงไม่เข้าใจทำไมศาลถึงไม่ให้คนอื่นเข้าฟังการพิจารณา 
สิ่งหนึ่งที่ชายแก่ยังไม่รู้ คือ คนก่อนหน้านี้ที่อยากต่อสู้ให้คดีของตัวเองเป็นตัวอย่าง คือ ดา ตอร์ปิโด (15 ปี) หนุ่ม ธันย์ฐวุฒิ (13 ปี) สมยศ (10 ปี) เอกชัย (3 ปี 4 เดือน) และอื่นๆ อีกมากมาย
หวังว่าในวันที่ผู้พิพากษานั่งพิจารณาสำนวนอยู่ในห้องทำงานที่่ปิดลับเพียงลำพัง เพื่อลงมือเขียนตัวอักษรสำหรับการชี้ชะตาชายแก่คนหนึ่ง วันนั้นความกลัวจากภายนอกห้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องสีเสื้อ เรื่องสถาบันฯ หรือเรื่องการแบ่งแยกประเทศใดๆ ก็จะไม่สามารถฝ่าประตูเข้าไปมีอิทธิพลกับการรับฟังข้อเท็จจริงและปรับใช้กฎหมายของท่านได้เช่นเดียวกับในห้องพิจารณา


วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

วิธีเอาผิดนักการเมืองโกง (ตามกฏหมาย)

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองไทยเป็นหนึ่งในการเรียกร้องหลักเพื่อการปฏิรูปประเทศของ กปปส. ขณะที่คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่มากกว่านักการเมือง และเป็นปัญหาที่เกาะกินสังคมไทยเรื้อรังมานานถึงเวลาต้องปฏิรูปเสียที 
ก่อนมุ่งหน้าปฏิรูป คงต้องมาสำรวจกันให้เข้าใจก่อนว่า ระบบป้องกัน ปราบปราม การทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบการจัดการกับ 'นักการเมือง' ที่มักถูกกล่าวหาเสมอว่า ‘ขี้โกง’ ที่สุด
เมื่อส่องไปที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2550 ในฐานะกฎกติกาพื้นฐานที่กำหนดความสัมพันธ์ทางการปกครอง พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก ดังจะเห็นว่าในหมวด 11 และ หมวด 12 ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดให้มีองค์กรต่างๆ สำหรับปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น เช่น คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ ถอดถอนจนถึงดำเนินคดีอาญา




วิธีการเอาผิดนักการเมืองโกง
ในการเอานักการเมืองโกงมาลงโทษ ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวของ เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เปิดช่องดำเนินการเอาผิดกับนักการเมืองไว้หลายช่องทาง ซึ่งมีกระบวนการที่นำไปสู่ทั้ง การถอดถอน และ การดำเนินคดีอาญา 
ช่องทางแรกเมื่อเราเห็นนักการเมืองโกง ในฐานะประชาชนตาดำๆ เราสามารถรวบรวม ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20,000 คน เพื่อยื่นถอดถอนนักการเมืองผู้นั้นต่อ ประธานวุฒิสภา จากนั้นประธานวุฒิสภาจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวน หากไต่สวนแล้วพบว่ามีมูลความผิด ให้ ป.ป.ช. ก็จะต้องทำสองอย่าง คือ  (1) ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภา เปิดประชุมวุฒิสภาพิจารณาถอดถอนโดยการถอดถอนต้องใช้คะแนนเสียงของ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด และ (2) หากเป็นกรณีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองอื่น ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ต้องส่งเรื่องให้ อัยการ เพื่อส่งฟ้องคดีต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ดำเนินคดีเพื่อเอาผิดและลงโทษตามกฎหมาย  
อีกช่องทางที่คล้ายกัน คือเริ่มต้นโดย ส.ส. เข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมดสามารถยื่นถอดถอนโดยใช้กระบวนการเดียวกันกับประชาชน 
ผู้ที่อยู่ในข่ายอาจถูกกระบวนการนี้ถอดถอนได้ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด เป็นต้น ทั้งนี้ยังหมายรวมถึงตำแหน่งทางราชการระดับสูงอื่นอีก เช่น กรรมการองค์กรอิสระ ผู้พิพากษา ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และข้าราชการระดับสูง ซึ่งระบุอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของ ป.ป.ช.
นอกจากนี้ ประชาชนตัวเล็กๆ เพียงคนเดียวก็สามารถทำได้โดยการแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตฯ ผ่าน ป.ป.ช. หรือ ร้องเรียนต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องยื่นผ่าน ป.ป.ช. อีกที) ทั้งนี้หากหน่วยงานทั้งสองพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำทุจริตฯ ก็สามารถดำเนินการเองได้โดยมิต้องมีผู้ร้องเรียน หากไต่สวนแล้วพบว่าคดีมีมูลจึงส่งเรื่องให้ อัยการสูงสุดและประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินคดีอาญาและถอดถอนตามขั้นตอนที่ได้กล่าวไปข้างต้น
สำหรับ ผู้เสียหาย ที่ได้รับความเสียหายจากการทุกจริตคอรัปชั่นโดยตรง ก็สามารถยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ตามขั้นตอนปกติ หรือสามารถใช้วิธียื่นคำร้องต่อ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา รับเรื่องก็จะตั้ง ผู้ไต่สวนอิสระ เพื่อไต่สวนซึ่งหากมีมูลก็ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอนต่อไปได้เหมือนกัน หรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะใช้ช่องทางส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช. ก็ได้
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่สำคัญมากเพราะในช่องทางการดำเนินการต่างๆ ทั้งถอดถอนและดำเนินคดีอาญา โดยในขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาที่จะต้องส่งเรื่องต่อให้อัยการสูงสุดนั้น หากอัยการสูงสุดไม่ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการยื่นฟ้องเองได้ 
จะเห็นว่ากระบวนการเกี่ยวกับการปราบปรามคอรัปชั่นในแวดวงนักการเมืองนั้นกฎหมายปัจจุบันได้กำหนดรายละเอียดขั้นตอนไว้ค่อนข้างมาก เพื่อปิดช่องว่าง และเพิ่มช่องทางการเอาผิดให้เป็นไปได้มากที่สุดแล้ว โดยเปรียบเทียบสถาบันนักการเมืองเป็นสถาบันที่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจค่อนข้างเข้มข้นเมื่อเทียบกับสถาบันทางสังคมอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น ทหาร ศาลยุติธรรม ศาสนา เป็นต้น
หลังจากเห็นภาพรวมของกระบวนการป้องกัน ปราบปราม การทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทยแล้ว ก็อาจทำให้เห็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอันเป็นเหตุให้นักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นยังลอยนวลอยู่ในสังคมได้ ซึ่งทางกลุ่มกปปส.ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เสนอแก้ไขระบบดังกล่าว เช่น เสนอแก้ไขกฎหมายให้ประชาชนสามารถฟ้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดโดยตรง เสนอให้คดีทุจริตฯ ไม่มีการหมดอายุความ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ยังมีข้อน่าสังเกตอยู่บ้าง ดังจะกล่าวในบทต่อไป 
 ที่มา: http://ilaw.or.th/node/3023


แอบดูข้อเสนอปฏิรูปกฎหมายคอรัปชั่น ตามแนวทาง กปปส.
กปปส. ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปเพราะเหตุว่านักการเมืองปัจจุบันคอรัปชั่นกันมาก และหนึ่งเรื่องที่ต้องปฏิรูปคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามคอรัปชั่น แม้ข้อเสนอชุดใหญ่ว่าจะปฏิรูปแบบเป็นรูปธรรมอย่างไรยังไม่เห็นกันชัดเจน แต่ก็เปิดข้อเสนอออกมาให้เห็นบ้างอย่างน้อยสองประเด็น
1) แก้กฎหมายให้ความผิดฐานคอรัปชั่น ไม่มีอายุความ
ข้อสังเกตประการแรก ข้อเสนอนี้ยังมีความหละหลวมอยู่มาก เพราะไม่มีการระบุให้แน่ชัดว่าความผิดฐาน “คอรัปชั่น” นั้นหมายถึงความผิดฐานใดบ้าง ประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 2 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการมีทั้งหมด 20 มาตรา ลักษณะ 3 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมมีทั้งหมด 6 มาตรา ในพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ก็มีความผิดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่อีกอย่างน้อย 6 มาตรา และในกฎมายเฉพาะอื่นๆ ก็มีความผิดที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก ความผิดแต่ละฐานมีความร้ายแรงแตกต่างกันไป ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้ระบุให้ชัดเจน ให้เห็นตรงกันว่าความผิดใดบ้างที่ควรกำหนดให้ไม่มีอายุความ หรือจะรวมถึงความผิดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ราชการทั้งหมดเลย
ข้อสังเกตประการที่สอง ตามกฎหมายในปัจจุบันความผิดแต่ละฐานจะมีอายุความแตกต่างกันไปตามอัตราโทษสูงสุดของความผิดนั้นๆ โดยความผิดที่มีอายุความยาวที่สุดมีอายุความ ยี่สิบปี โดยมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 เป็นบทกำหนดอายุความของความผิดอาญาทุกฐาน ตามกฎหมายไทยยังไม่มีความผิดฐานใดเลยที่ไม่มีอายุความ ความผิดที่ไม่มีอายุความปรากฏให้เห็นในกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฐานอาชญากรสงคราม และฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ the Convention on the Non-Applicability of Statutory Limitations to War Crimes and Crimes Against Humanity of 1968 ("the 1968 Convention") 
ข้อสังเกตประการที่สาม สาเหตุที่กฎหมายต้องกำหนดให้ความผิดทางอาญามีอายุความจำกัด ก็เพื่อต้องการคุ้มครองสิทธิของจำเลยด้วย เพราะหากไม่มีกำหนดอายุความเลย ปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ก็จะมีอยู่ติดตัวจำเลยไปตลอดไม่มีวันสิ้นสุด และเป็นการป้องกันไม่ให้มีการนำเรื่องราวที่ผ่านมานานแล้วกลับมาฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งกันได้อีก หากความผิดฐานใดไม่มีอายุความก็เท่ากับการคุ้มครองสิทธิของจำเลยไม่มีอยู่อีกต่อไป
นอกจากเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลยแล้ว อายุความยังมีขึ้นเพื่อคุ้มครองระบบยุติธรรมด้วย เพราะหากโจทก์พบการกระทำความผิดแล้วปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาอันสมควร พยานหลักฐานก็อาจเลอะเลือนหรือสูญหายจนไม่อาจดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมได้ ดังนั้นในทางกลับกันการกำหนดให้ความผิดฐานใดไม่มีอายุความก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน เพราะอาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป.ป.ช. หรือพนักงานอัยการไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินคดี จนสุดท้ายกว่าคดีความจะถึงมือศาลพยานบุคคลก็อาจจดจำเหตุการณ์ไม่ได้ พยานหลักฐานต่างๆ ก็อาจเก่าหรือสูญหายจนยากจะพิสูจน์ความผิดกันได้อีก

ข้อสังเกตประการที่สี่ เมื่อปี 2554 ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยแก้กฎหมายเกี่ยวกับอายุความของการคอร์รัปชั่นมาก่อนแล้ว โดยเพิ่มมมาตรา 74/1 ในพ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่กำหนดว่า
                “มาตรา ๗๔/๑ ในการดําเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดี มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ”
เท่ากับว่าปัจจุบันการดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้จะมีการหลบหนีระหว่างดำเนินคดีไม่ว่าจะหลบหนีไปนานเท่าใด คดีก็ไม่มีวันขาดอายุความ เมื่อใดที่จับตัวได้ก็สามารถนำมาดำเนินคดีได้เสมอ น่าสงสัยว่าเหตุใดการแก้ไขกฎหมายในปี 2554 ถึงไม่รวมกรณีที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดแล้วแต่จำเลยหลบหนี ให้ไม่มีการนับอายุความระหว่างการหลบหนีเข้าไปด้วย
หมายเหตุ 
กรณี “คดีที่ดินรัชดา” ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีจากความผิดที่ศาลตัดสินให้จำคุก 2 ปี นั้น เป็นกรณีที่ศาลตัดสินและคดีถึงที่สุดแล้วไม่ใช่กรณีหลบหนีระหว่างดำเนินคดีจึงไม่ใช่กรณีตามพ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 74/1 แต่เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98(3) ที่กำหนดให้มีอายุความ 10 ปีนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาจนถึงวันที่นำตัวมาลงโทษได้ แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว หากหายหลังจากมีคำพิพากษาแล้วมีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องอายุความ ตามหลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษแก่จำเลย คดีที่ดินรัชดาย่อมมีกำหนดอายุความเท่าเดิม



2) แก้กฎหมายให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายฟ้องร้องฐานคอรัปชั่นได้
 
ข้อสังเกตประการแรก ข้อเสนอนี้มีข้ออ่อนอยู่เช่นเดียวกับข้อเสนอข้อที่ 1) คือ ความไม่ชัดเจนว่าความผิดฐานใดตามกฎหมายใด จึงจะรวมอยู่ในข่ายความผิดฐานคอรัปชั่นบ้าง
 
ข้อสังเกตประการที่สอง ตามกฎหมายปัจจุบัน ความผิดที่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นความผิดต่อรัฐ ประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจึงไม่สามารถฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลได้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดก็สามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือ ป.ป.ช.ให้เป็นผู้ดำเนินคดีได้ เพราะกฎหมายมองว่าประชาชนรายบุคคลไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง เหมือนความผิดต่อบุคคล เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น หากให้ประชาชนมีอำนาจฟ้องได้ทุกคดี ก็อาจทำให้มีคดีความรกโรงรกศาล หรือมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐในชั้นศาลกันมากจนเจ้าหน้าที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่ เพราะกลัวถูกฟ้องร้อง 
 
แต่หากเป็นการกระทำความผิดที่ทำให้ประชาชนบางคนได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ เช่น การจงใจใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งบุคคลบางคนเป็นการเฉพาะ หรือการเอื้อประโยชน์ให้กับบางคนทำให้บางคนเสียหายโดยตรง คนที่เสียหายนั้นก็ย่อมมีฐานะเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้เองอยู่แล้ว
 
หลักเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องความเป็นผู้เสียหายที่กล่าวมานี้ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในกฎหมายมาตราใด แต่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7030/2551, 1510/2551 และ 3509/2549 (ดูรายละเอียดได้ตามไฟล์แนบ) ซึ่งเป็นแนวการใช้กฎหมายที่ได้รับการยอมรับต่อเนื่องมายาวนานแล้ว 
 
เพราะฉะนั้น หากต้องการจะแก้ไขหลักเกณฑ์เรื่องผู้เสียหาย ก็ต้องเปลี่ยนแปลงที่แนวการวินิจฉัยของศาลฎีกาให้วินิจฉัยว่าประชาชนทุกคนในรัฐเป็นผู้เสียหาย หรือบางกรณีอาจหมายถึงเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นๆ ก็ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับของการตีความคำว่า “ผู้เสียหาย” และปรับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
 
หากข้อเรียกร้องของกปปส.บรรลุผล คือ ให้อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหารเป็นของ “สภาประชาชน” ก็ไม่อาจเข้าไปแก้ไขหลักเกณฑ์ข้อนี้ได้ หรือหากทำได้ก็เกรงจะเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหารมาก้าวล่วงอำนาจตุลาการ นอกเสียจากว่าให้ศาลฎีกามีแนวคำวินิจฉัยใหม่กลับแนวคำวินิจฉัยเดิมเสียเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายหรือปฏิรูประบบด้วยอำนาจของสภาประชาชน
 
ข้อสังเกตประการที่สาม หากจะมีการแก้ไขกฎหมายฉบับใดโดยเขียนลงไปให้ชัดเจนว่าความผิดบางฐานให้ผู้เกี่ยวข้องบางคนเป็นผู้เสียหายโดยเฉพาะและมีสิทธิฟ้องคดีเองได้ ก็อาจเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องระบุชัดเจนว่าหมายความถึงความผิดตามมาตราไหนบ้าง ดังที่เคยเห็นมาแล้วในการเขียนกฎหมายบางฉบับ ตัวอย่างเช่น 
 
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐
 
                   มาตรา ๑๕๙ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งใด ให้ถือว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองซึ่งส่งสมาชิกของตนลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2552
 
                   มาตรา 73 ในกรณีมีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น หรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทําความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา 
 
แต่หากจะแก้กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนในราชอาณาจักรเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีเองได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับความผิดนั้นหรือไม่ ก็อาจเป็นแนวทางการเขียนกฏหมายแบบกว้างขวางที่ไม่ค่อยคุ้นตานัก
 

มาตรา 157 ดาบสองคมเพื่อการเอาผิดคอรัปชั่น

ประมวลกฎหมายอาญา
                   มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือที่รู้จักกันในฐานะ ความผิดฐาน “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ซึ่งร่วมการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย เป็นกฎหมายมาตราแรกๆ ที่ต้องนึกถึงเมื่อจะดำเนินคดีเอาผิดกับการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ 
 
ขณะที่ในมาตราอื่นของประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น กำหนดความผิดฐานต่างๆ แยกตามการกระทำไว้โดยชัดเจนแล้ว เช่น การยักยอกทรัพย์ การรับสินบน การเข้ามีส่วนได้เสีย ฯลฯ แต่ก็ยังมีมาตรา 157 เป็นความผิดที่เขียนไว้กว้างๆ เพื่อจะได้ครอบคลุมความผิดต่างๆ ที่ไม่ได้เขียนไว้ในมาตราอื่นๆ ได้หมด
 
มาตรา 157 ถูกวิพากษวิจารณ์มาตลอดว่าเป็นกฎหมายที่เขียนไว้กว้างขวางเกินไป ซึ่งขัดกับหลักของกฎหมายอาญาที่ต้องเขียนให้ชัดเจนและแคบเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลย แถมยังเป็นกฎหมายที่มีโทษค่อนข้างสูง การฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐแทบทุกคดีไม่ว่าจะเนื่องมาจากการกระทำใด ก็จะต้องมีข้อหามาตรา 157 มาด้วยเสมอ ในอีกแง่หนึ่งมาตรา 157 ก็กลายเป็นดาบสองคมทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่หรือไม่กล้าตัดสินใจแม้ว่าอาจจะเป็นสิ่งที่สมควรต้องรีบทำเพราะกลัวถูกฟ้องตามมาตรา 157 ในภายหลัง
 
ปัจจุบันมีข้อเสนอในการแก้ไขมาตรา 157 ให้ชัดเจนขึ้น ตีความได้น้อยลงเพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องคดีพร่ำเพรื่อ แต่ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่คืบหน้านัก ดังนั้น หากมีการแก้ไขกฎหมายให้มาตรา 157 ไม่มีอายุความและให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีได้เอง ก็จะทำให้ “ใครก็ได้” ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ “เรื่องอะไรก็ได้” และ “เมื่อไรก็ได้” ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ปฏิบัติงานเช่นกัน


วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

นายกหญิง....จำเป็นไหม?



ยุคของโลกปัจจุบันนี้ เทรนด์ของโลก ประชาชนจะเลือก "ผู้หญิง" เข้ามาเป็นผู้นำของประเทศตน ผู้นำหญิงบางท่านก็กลายเป็นผู้นำหญิงที่โลกต้องจารึกไว้ ประเทศไทยเราก็ไม่ตกกระแสเทรนด์ผู้นำหญิงเช่นกัน โดยประชาชนเลือก"น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศชาติ ซึ่งขณะนี้รัฐนาวาของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ได้ฝ่าคลื่นลมปัญหาต่างๆ มาได้ 2 ปี

ณ.นาทีนี้กำลังโดนการเมืองกระหน่ำ มาทุกด้าน
ซึ่งโลกก็คงกำลังจับตาดูว่า ผู้นำหญิงของไทยจะฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ไหม และยังไงอย่างไร....
?


เกาหลีใต้ ประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชียเช่นเดียวกับไทยก็ได้ประธานาธิบดีหญิงคนแรก นามว่า "ปาร์ค กึน-เฮ" วัย 60 ปี บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดี ปาร์ค จุง-ฮี ซึ่งถูกกล่าวขานกันว่า เป็นผู้นำเผด็จการของเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้เข้าทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง และเริ่มงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2556




นี่ก็เป็นสัญญาณชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา สังคมโลกยอมรับความสามารถของผู้หญิงในบทบาทผู้นำประเทศแล้ว!!
ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ ผู้นำหญิงคนแรกของโลก และมีความโดดเด่นในสังคมโลก ก็คือ "สิริมาโว บันดารานัยเก" อดีตนายกรัฐมนตรีศรีลังกา และเป็นอดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง เพราะเป็นภริยาของอดีตนายกรัฐมนตรี โซโลมอน บันดารานัยเก ซึ่งถูกลอบสังหารไปเมื่อปี พ.ศ.2502 ส่วนตัวเธอนั้นอยู่ในตำแหน่งได้ยาวถึง 3 สมัย



อีกผู้นำหญิงที่ทั่วโลกรู้จักดี คือ "อินทิรา คานธี" เธอผู้นี้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ถึง สมัย วาระ แต่เธอถูกองครักษ์ใช้ปืนกระหน่ำยิงกว่า 30 นัดที่บริเวณสวนในทำเนียบนายก ก่อนจะเสียชีวิตขณะนำตัวส่งโรงพยาบาล ส่วนสาเหตุการสังหารผู้นำ ทางการอินเดียเผยว่าเพราะปมขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับชาวซิกข์ (แนะนำให้ดูหนังเรื่อง Slumdog Millionair )จะเข้าใจด้านมืดของอินเดียอีกเยอะ ไม่ใช่สนใจแต่เรื่อง ว่าเป็นที่ไปสักการะบูชาศาสดาของศาสนาพุทธเท่านั้นอินทิรา คานธี มีชื่อเดิมว่า อินทิรา ปรียทรศินี เนห์รู เป็นบุตรสาวของชวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย กับกมลา เนห์รู นางอินทิราสมรสกับผิโรช คานธี ซึ่งมีนามสกุลเดียวกับมหาตมา คานธี แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกัน
อินทิรามีบุตรชายสองคน คือ ราชีพ คานธีและสัญชัย คานธี โดยบุตรทั้งสองต่างดำเนินกิจกรรมทางการเมืองสืบต่อจากมารดา



ยังมี "เบนาซีร์ บุตโต" อดีตนายกปากีสถาน บุตรสาวของอดีตนายกซัลฟิการ์ อาลี บุตโต ที่ถูกทำรัฐประหารและสั่งแขวนคอประหารชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2522
สำหรับ"เบนาซีร์ บุตโต" เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยสุดในโลก โดยขณะรับตำแหน่งเธอมีอายุเพียง 
35 ปี เธอครองอำนาจได้ สมัย ระหว่าง พ.ศ.2531-2533 และ พ.ศ.2536-2539 แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไม่ราบรื่น วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2550 เธอถูกระเบิดถล่มจนเสียชีวิตลง


ผู้นำหญิงที่โดดเด่นมีคนรู้จักกันทั่วโลกที่อยู่ในทวีปยุโรป ก็คือ "แองเจลา แมร์เคิล" นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนี นางแมร์เคิลเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศเยอรมนีนางแมร์เคิลเกิดที่เมืองฮัมบูร์ก และได้ศึกษาทางด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิจ หลังจบการศึกษา แมร์เคิลที่สถาบันวิทยาศาสตร์เยอรมนี และได้ลาออกในปี พ.ศ. 2533 เพื่อเข้ามาเล่นการเมืองในปี พ.ศ. 2550 นางแมร์เคิลยังดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรปและประธานกลุ่มประเทศจีแปด นางดำเนินบทบาทในการเจรจาสนธิสัญญาลิสบอนและปฏิญญาเบอร์ลินอีกด้วย....ด้านนโยบายภายในประเทศ เรื่องของการปฏิรูปเรื่องการดูแลสุขภาพและปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานในอนาคตนับเป็นเรื่องใหญ่
ในระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนาง...
นางได้รับการเลือกจากนิตยสาร Forbes ให้เป็นสตรีที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2550 นางแมร์เคิลยังเป็นสตรีคนที่สองในการเป็นประธานกลุ่มประเทศจีแปดต่อจากนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์อีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2551 นางแมร์เคิลได้รับรางวัลชาร์เลอมาญ (Charlemagne) "สำหรับการทำงานเพื่อปฏิรูปสหภาพยุโรป" จากประธานาธิบดีนีกอลา ซาร์กอซีแห่งฝรั่งเศส

ส่วนที่ประเทศออสเตรเลีย ก็เพิ่งมี "จูเลีย กิลลาร์ด" สาวโสดวัย 51 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2553 และเธอยังเป็นนายกหญิงคนแรกของแดนจิงโจ้ อย่างไรก็ตาม ท่านนายกกิลลาร์ดประกาศตัวชัดว่า เธอเป็นพวกนิยมสาธารณรัฐ และสนับสนุนการปกครองระบบสาธารณรัฐในออสเตรเลีย โดยชาวออสซีจำนวนไม่น้อยต่างแสดงความไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เธอยังคงอยู่ในตำแหน่งได้จนถึงปัจจุบัน

หากลองตั้งข้อสังเกต อาจเห็นได้ว่า การก้าวสู่เส้นทางการเมืองถึงขั้นคุมอำนาจบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดีของผู้หญิงนั้น เป็นเพราะเคยมีบุคคลในครอบครัวร่วมสายเลือดดำรงตำแหน่งเดียวกันนี้มาก่อน เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม พวกเธอจึงต้องลงเล่นการเมือง อาจเพื่อต้องกลับมาแก้ไข หรือสานต่อนโยบายที่ยังไม่ลุล่วง หลายคนจึงไม่อาจดิ้นหลุดจากคำครหาว่าเป็นนอมินีของอดีตผู้นำร่วมสกุล เว้นแต่จะให้ประชาชนตัดสินจากผลงานการบริหารประเทศ ผิดกับผู้นำหญิงที่เข้าถึงตำแหน่งโดยไม่ได้เป็นหุ่นเชิดของใคร มักจะบริหารประเทศได้อย่างเด็ดเดี่ยวกว่า.

กลับไปศึกษาเรื่องราวของผู้นำหญิงอย่างแองเจลา แมร์เคิล" ผู้ได้รับรางวัลชาร์เลอมาญ (
Charlemagne) "สำหรับการทำงานเพื่อปฏิรูปสหภาพยุโรป" จากประธานาธิบดีนีกอลา ซาร์กอซีแห่งฝรั่งเศส
 
แน่นอน เธอ ไม่ใช่นักการตลาด ไม่ได้คำชื่นชมเรื่องการแต่งกายดีที่สุดในโลกผู้นำหญิง

สำหรับประเทศเราที่กำลังสูญเสียโอกาสในการเป็นผู้นำ สมาคมอาเซียนปอย่างน่าเสียดายฉะนั้นเราควรมาทบทวนกันใหม่ดีไหมคะว่าจริง ๆแล้วเราต้องการนายกที่มีวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทำเพื่อประชาชนและสังคมโลกอย่างแท้จริง ใช่ไหม แค่หานายกดี ๆ ตามนี้ก็ยากแล้วยังจะมาจำกัดเพศอีก

ฉะนั้นคำถามที่ว่านายกหญิงคนไหนที่เหมาะที่สุด

    ใครเข้ามาตอนนี้ก็คือ นอมินีพรรคเพื่อไทยเท่านั้น เราประชาชนผู้ยากไร้ เสียงส่วนใหญ่ในประเทศต่อสู้ไม่รู้จบสิ้น ก็กำลังเป็นเหยื่อ เป็นกำลังเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ผู้ไม่ได้เห็นหัวประชาชนอย่างแท้จริงหรือเปล่า ถามตัวเองนะคะ???
วารีนา ปุญญาวัณน์

ขอบคุณข้อมูลจาก กูเกิ้ล เดลินิวส์และวิกีพีเดีย