เพลงฉ่อยชาววัง

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

<<< คัมภีร์ ประชาธิปไตย สมัยใหม่ >>>

<<< หลักสูตร Cyber Warrior and Coffee Council Warrior for Democracy >>>

คำนำ

ความตั้งใจที่จะเปิดหลักสูตรนี้
ก็เนื่องจากว่ามีพี่ท่านหนึ่งที่รู้จักกันที่เว็บ Pantip
ชวนให้กลับไปช่วยเสริมกำลังรบที่เว็บ Pantip
ผมก็ปฏิเสธไปว่า ผมโดนเขาถีบออกมาแล้ว
พี่เขาก็พูดทำนองให้เราลองไปติดต่อขอ Login คืนดู
อย่างอนไปเลยอะไรประมาณนั้น
ผมก็เลยตอบพี่เขาไปทำนองว่า
ผมอยากให้มีคนที่อ่านข้อมูลที่ผมเขียน
หรือไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ก็ได้
สามารถทำความเข้าใจจนไปโต้ตอบได้
ถ้าสามารถทำแบบโคลนนิ่งผมไปได้เลยยิ่งดี
ดีกว่าที่ผมจะต้องวิ่งรอกไปช่วยอะไร
และผมกะไม่ไปทุกเว็บ

กะให้เป็นที่ประลองความคิดของกลุ่มเก่าที่ยังอยู่
กับกลุ่มใหม่ที่ผมจะพยายามชักชวนผ่านหลักสูตรนี้
เพื่อไปช่วยรบทุกแนวรบไม่ว่าที่เว็บไหน
หรือว่าตามสภากาแฟแห่งใด
อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการโต้ตอบข้อมูลน่ะ
แต่รวมไปถึงเรื่องการปราศรัยเรื่องอะไรต่อมิอะไร
เพื่อสอดรับกับการเกิดดาวดวงใหม่
ที่กระจายไปทั่วประเทศไทย
ถึงวันนั้นท้องฟ้าเมืองไทย
จะมีดาวประชาธิปไตยระยิบระยับเต็มฟ้า
ดีกว่ามีดาวส่องแสงเพียงไม่กี่ดวง
ซึ่งเป็นวันหนึ่ง ที่ผมรอคอยจริงๆ

เล่ามาถึงตรงนี้
อาจฟังดูเหมือนคุณเก่งมาจากไหน
ทำไมต้องเชื่อที่คุณว่าอะไร
ถึงต้องคิดโคลนนิ่งแบบคุณ
ถึงผมจะบอกให้โคลนนิ่ง
ก็ควรจะโคลนนิ่งไปเฉพาะแนวทางที่แนะนำ
ส่วนสไตล์การเขียน วิธีการนำเสนออะไร
ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบหมด
ควรเป็นแนวถนัดของแต่ละคนให้มากที่สุด
หรือถ้าคิดไม่ออกจริงๆ จะยืมไปใช้ก็ไม่ว่าอะไร
คือไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรให้มันเห็นภาพ
ผมตั้งตนเองป็นผู้แนะนำ
และผมก็อยากได้คนแนะนำเยอะๆ
ผมไม่ได้เน้นเรื่องเป็นแกนนำเลย
สำหรับผมแล้ว
แกนนำก็คือคนที่ตั้งให้ไปทำงานแต่ละงานเท่านั้น
ไม่ได้ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจ
หรือว่าคนเดียวทำได้ทุกหน้าที่
หรือทุกงานหรือทุกรูปแบบไปหมด
คนเป็นแกนนำสำหรับผม
ถ้าเรื่องปราศรัยผมอาจอยากได้คนพูดเก่งไปเป็นแกนนำ
ถ้าเรื่องลุยผมอาจอยากได้คนลุยจริงๆ ไปทำงานนั้นๆ
แล้วแต่ละเรื่อง เพื่อความเหมาะสมกับงานนั้น
ซึ่งคนอื่นอาจจะคิดยังไงไม่รู้น่ะ

อาจจะคนละแนวกับที่ผมว่าก็ได้
ดังนั้นผมขอเป็นแค่ผู้แนะนำ
และคนที่รับคำแนะนำ แล้วไปแนะนำต่อ
ก็เป็นผู้แนะนำแบบเดียวกับผม เท่าเทียมกับผม
ไม่มีผู้แนะนำอันดับหนึ่ง ผู้แนะนำอันดับสอง
มีแต่ผู้แนะนำ ผู้แนะนำ และผู้แนะนำ เท่าเทียมกัน
เริ่มเกริ่นมาถึงตรงนี้อาจเริ่มเครียด
แต่ไม่ต้องเครียดเนื้อหาไม่เน้นวิชาการ
เน้นประสบการณ์ตรง
ที่เริ่มจากไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับการเมือง
จนมาเขียนเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กลยุทธ์ สารพัด
ทั้งๆ ที่จบด้านวิทย์คอมพิวเตอร์
ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่ามาสักนิดเดียว
ก็เลยว่าน่าจะเอาแนวทางประสบการณ์เป็นสิบปี
ที่นั่งเล่นสารพัดชื่อเป็นพันชื่อได้แล้วมั้งใน Pantip สมัยก่อน
แบบช่วงนั้นเล่นแทบทุกวัน ตอบสารพัดกระทู้
แต่ลงชื่อตามแต่จะคิดออกตอนนั้น ไม่มีซ้ำกันเลย
จนเขาบังคับใช้ระบบ Login
ก็หนีไปเล่นที่เว็บผู้จัดการ
จนทางนั้นแบนโพสอะไรไม่ขึ้น
จึงต้องซมซานยอมมาลงทะเบียนเล่นที่ Pantip อีกครั้ง
และโดนถีบมาอยู่ที่ประชาไทในปัจจุบัน
อนาคตอาจไปประจำอยู่ที่เว็บ มาหาอะไร อย่างเดียว
ที่ต้องเน้นเอาประสบการณ์ตนเองมาถ่ายทอด
ก็เพราะผมรู้จักตนเองดีกว่าคนอื่น
และผมไม่รู้จะเอา login ไหนเป็นต้นแบบ
และถึงนำ Login อื่นมาเป็นต้นแบบ
ผมก็ไม่สามารถเขียนอธิบายอะไรได้ดี
ว่าเขาทำอย่างไรได้
เพราะผมไม่รู้จักวิธีการของเขา
ดีพอ
เอาเป็นว่าเป็นแนวทางหนึ่ง
เป็นหลักสูตรหนึ่ง
 เป็นทางเลือกหนึ่ง
ในการเป็น
 Cyber Warrior and Coffee Council Warrior for Democracy
ชื่อก็เรียกให้เท่ห์ๆ ไปยังงั้นเองอย่าไปซีเรียสมาก

ก่อนอื่นอยากจะบอกเงื่อนไขของหลักสูตรสักนิดหนึ่งว่า
ค่าเล่าเรียน ค่ารับคำแนะนำ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ฟรีหมด
ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
ผมจะพยายามเน้นให้มีต้นทุนต่ำสุดๆ
ทั้งผู้แนะนำและผู้รับการแนะนำ
โดยผมก็เน้นใช้ของฟรี
แค่ใช้สมองสั่งงาน
ให้เขียนเรื่องนั้น เรื่องนี้ออกมา
เพื่อถ่ายทอดต่อคนทั่วไปเป็นพอ

ส่วนผู้รับคำแนะนำ
ผมก็พยายามเน้นไม่ให้เสียเงินเสียทองอะไรมาก
ผมมาเปิดหลักสูตรบนเว็บทุกคนมาเรียนมาอ่านฟรี
แถมยังจะยัดเยียดให้ช่วย copy ไปแจกต่อให้มากที่สุดด้วย
ผมไม่ต้องการสกัดคนเข้าถึงความรู้
ด้วยวุฒิทางการศึกษาหรือฐานะทางการเงิน
จะรวยจะจนจะจบสูงขนาดไหน
น่าจะมีโอกาสเข้าถึงได้เท่าเทียมกันให้มากที่สุด
อาจมีคนขยันพิมพ์หลักสูตรหรือเรื่องราวที่ผมบันทึกไว้
ไปแจกต่อ ไปกระจายต่อ ด้วยวิธีต่างๆ
ทำไปเลยเต็มที่ สนับสนุนเต็มที่ และยินดีอย่างยิ่ง


จุดประสงค์

เพื่อเพิ่มจำนวน นักรบไซเบอร์ ( Cyber Warrior)
และ นักรบสภากาแฟ (Coffee Council Warrior)
เพื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
 ให้มากขึ้น

---------------------------------------------

3 ต่อต้าน

1. ต่อต้านความอยุติธรรม ไม่ให้เกิด
2. ต่อต้านการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ เป็นประจำ
3. ต่อต้านการทำรัฐประหาร ในทันที


---------------------------------------------

โดย ผู้แนะนำ


<<< กล้าคิด กล้าทำ กล้านำตนเอง >>>

วันนี้จะมาแนะนำเรื่องแนวความคิดหนึ่ง
ซึ่งเรียกว่า 3 กล้า ก็ได้
คือ กล้าคิด กล้าทำ กล้านำตนเอง
เพื่อเป็นแนวทางไปสู่ความเป็นเสรีชน

กล้าคิดก็คือ
การกล้าที่จะคิดแตกต่าง
การกล้าที่จะคิดเปลี่ยนแปลง
การกล้าที่จะคิดในสิ่งใหม่ๆ
และการกล้าที่จะคิดโดยใช้เหตุผลไตร่ตรองก่อน

การกล้าที่จะคิด
ทำให้เรารู้สึกมั่นใจตนเองมากขึ้น
รู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องรอรับคำสั่งใครถึงทำงานได้
หรือทำตัวเป็นลูกน้องที่ดีหรือผู้ตามอย่างเดียว
ก็เป็นหนึ่งในความกล้าที่จะช่วยส่งเสริม
ให้ก้าวพ้นจาก กรอบเดิมๆ สิ่งเดิมๆ แนวทางเดิมๆ
เมื่อกล้าคิด ก็แสดงว่ากล้าที่จะยกระดับตนเอง
ขึ้นมาเสมอเทียบเท่ากับผู้คนทั่วไป 
หรือเทียบเท่าเจ้านาย หรือผู้นำต่างๆ
เพราะถ้าไม่กล้าแม้แต่จะคิดแตกต่าง
ก็มักจะต้องคอยคล้อยตามอย่างเดียว
แค่ดูทิศทางลมว่าเจ้านายเลือกทางไหน
ก็คิดคล้อยตามทางนั้นอย่างเดียว
อย่างนี้กี่สิบชาติก็ต้องรอรับคำสั่ง
หรือดูสัญญาณจากเจ้านายอย่างเดียว
ในชีวิตประจำวันทุกคนมักมีเจ้านายเป็นเรื่องปกติ
โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย
ไม่ว่าจะทำงานเอกชน ข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ
แต่ถ้าไม่สามารถกล้าคิดแตกต่างได้
เพราะกลัวไม่ก้าวหน้าในอาชีพการงาน 
หรือวัฒนธรรมองค์กรไม่เอื้อ
ก็สามารถใช้เวลานอกเวลาทำงานประจำ
มาฝึกหัดกล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่แตกต่างจากเดิม
ไม่แน่เมื่อท่านกล้าคิดมากขึ้นจนไปถึงกล้าทำแล้ว
บวกกับมีทุนพร้อม ท่านอาจเริ่มออกมานำทำกิจการส่วนตัว
เป็นเจ้านายตนเองหรือคนอื่นในอนาคตต่อไปก็ได้
ไม่ได้คิดแต่เพียงว่า
ชาตินี้ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นลูกจ้าง เป็นพนักงานไปตลอดชาติ
ถ้าไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือนแล้วไปไม่เป็น ทำอาชีพอื่นไม่ได้แน่ๆ ชีวิตนี้

เมื่อกล้าคิดก็ต้องกล้าทำด้วย
เพราะถ้าคิดอย่างเดียวแล้วไม่ทำ
ก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ
ความคิดจะมีผลได้ก็ต้องลงมือทำ
หลังลงมือทำถึงจะรู้จริงๆ ว่า
เป็นอย่างที่เราคิดไหม 
อาจเป็นอย่างที่เราคิดเราฝันไว้ก็ได้
หรืออาจไม่เป็นอย่างที่คิดที่ฝันไว้ก็ได้ทั้งนั้น
แต่การได้ลงมือทำ ก็จะได้แน่ๆ คือประสบการณ์
ซึ่งจะเป็นบทเรียน
ที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดให้ดีขึ้น
ถ้ามีแต่คนกล้าคิดกันอย่างเดียว แล้วไม่มีคนกล้าทำ
ก็ไม่ได้นำพาความสำเร็จใดๆ มาให้ใครๆ เลย

เมื่อกล้าคิด แล้วกล้าทำ 
สุดท้ายถ้าจะก้าวไปถึงจุดเท่าเทียมกับผู้อื่น
ก็ต้องกล้านำตนเองด้วย
แนวคิดกล้านำตนเอง
เป็นแนวคิดที่ให้ทุกคนเชื่อมั่นในศักยภาพตนเอง
เคารพในความเป็นตนเอง
ภูมิใจในความเป็นตนเอง
ว่าตนเองก็สามารถทำอะไรได้
โดยไม่จำเป็นต้องรอใครมาสั่ง
นี่แหล่ะคือการกล้านำตนเอง
ถ้าพัฒนามาถึงระดับนี้แล้ว
ก็จะกลายเป็นเสรีชน
คนที่เคลื่อนไหวอะไรได้ด้วยตนเอง
ขอแค่คิดกล้านำตนเองอย่าไปคิดนำคนอื่น
กับคนอื่นเราควรจะเป็นแค่คนแนะนำ
เป็นคนแนะนำแนวทาง ชี้แนวทาง
แล้วเราอาจทำเป็นตัวอย่าง
ถ้าคนอื่นเขาเห็นว่าดี 
แนวนี้เป็นแนวที่เห็นเขาเป็นคนสำคัญ
ไม่ได้ชักจูงเขาให้มาเป็นผู้ตาม
เพียงแต่ชี้แนวทางแล้วให้เขาพัฒนาตนเอง
เพื่อมาร่วมเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ระดับเดียวกัน
ฝึกให้เขากล้าคิดว่าสิ่งที่แนะนำให้ทำ
ดีไม่ดียังไง สามารถแย้งได้ด้วยเหตุผล
ฝึกพยายามหาเหตุผลไว้เสมอ
ก็จะช่วยฝึกให้ความคิดที่กล้าคิด
เป็นความคิดที่ดี สร้างสรร 
มากกว่าความกล้าคิดแบบบ้าบิ่น ไร้สติ

ถ้ามีเสรีชนจำนวนมากๆ ขึ้น
และมีอุดมการณ์เรื่องประชาธิปไตย
ไปในทางเดียวกันมากๆ
ถึงวันหนึ่งถ้าจะร่วมกันลุกขึ้นสู้
เพื่อรักษาความเป็นธรรมในบ้านเมือง
เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักประชาธิปไตยให้บ้านเมือง
พร้อมจับมือแล้วก้าวไปไหนด้วยกันได้อย่างมีพลัง
การสกัดกั้นใดๆ จะทำได้ยากมากๆ
เพราะไม่สามารถใช้วิธีควบคุมแกนนำ 
หรือใช้วิธีสั่งผ่านแกนนำให้มาควบคุมมวลชนอีกต่อได้ผล
เพราะเสรีชนสามารถคิดกันได้เอง
กล้าที่จะนำตนเองมารวมกับคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน
โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาสั่ง
หรือมีการจัดตั้งแกนนำหรือผู้นำก่อน
ถึงคิดจะลุกขึ้นสู้หรือมาร่วมชุมนุมได้
ถ้าเป็นเสรีชนแล้วจะมาด้วยใจนำทาง
เพราะไม่สามารถทนรับสถาพกับเหตุการณ์ ณ เวลานั้นๆ ได้
และใช้เหตุผลในการกำหนดแนวทางต่อสู้ร่วมกัน
ซึ่งจะถูกควบคุมไม่ได้ง่ายๆ
ยิ่งถ้าสิ่งที่ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย
ยังไม่ได้ประสบผลสำเร็จ
ก็จะเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อไม่มีวันจบสิ้นไปได้ง่ายๆ
และวิธีการต่อสู้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ได้อีกด้วย
เนื่องจากมีเสรีชนจำนวนมาก
ก็อาจมีวิธีการคิดหรือมีแนวทางแปลกใหม่
ที่จะถูกนำมาใช้ในการต่อสู้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
การต่อสู้โดยการใช้อุดมการณ์นำ
จึงเป็นการต่อสู้ที่น่ากลัวที่สุดของคู่ต่อสู้

หวังว่าฝันของฉันจะเป็นจริงสักวัน
ฝันที่จะเห็นเสรีชน คนกล้าคิด กล้าทำ กล้านำตนเอง
มีมากมายเต็มบ้านเต็มเมืองในวันหนึ่ง
ซึ่งวันนั้นจะเป็นวันที่เผด็จการรูปแบบต่างๆ
ไม่สามารถกร่างและดำรงคงอยู่ได้ อีกต่อไป


---------------------------------------------

5 มี

ส่วนวันนี้จะมากล่าวถึง 5 มี ซึ่งได้แก่ 
1. มีอุดมการณ์ 
2. มีเหตุผล 
3. มีสติ 
4. มีปัญญา 
5. มีความมุ่งมั่น

1. มีอุดมการณ์ 
เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการฝึกมวลชนเป็นแนวหน้า
หรือเป็นแกนนำ หรือเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตย
เพราะว่าถ้าไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแล้ว
ก็เปล่าประโยชน์ ต่อให้สอนให้รู้เรื่องราวมากมาย
ทั้งเศรษฐกิจการเมืองและกลยุทธ์อย่างครบถ้วนแล้วก็ตาม
เพราะมีตัวอย่าง 3 ปีที่ผ่านมาให้เห็นว่า
ระดับคนเป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ
และคนที่จบ ดร. มากมายหลายคน
ก็ออกมายืนข้างพวกทำรัฐประหาร
โจมตีฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับพวกทำรัฐประหารหน้าตาเฉย
รวมไปถึงคนที่เคยต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย
ตั้งแต่ตุลาวิปโยค พฤษภาทมิฬ ก็ตาม
แต่พอนานวันไปก็เปลี่ยนข้าง
แถมเรียกร้องการทำรัฐประหารเสียเองอีกด้วย
นี่แสดงให้เห็นว่าแต่ก่อนที่เคยสู้กันมา
สู้เพราะสถานการณ์พาไปหาใช่มีอุดมการณ์อะไรไม่

การสอนให้คนมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย
พูดไปก็มองภาพไม่ค่อยออกมันเป็นนามธรรมมากเกินไป
แต่ถ้าเราสอนให้เขารักสิทธิเสรีภาพของเขา
รักความยุติธรรมและความเสมอภาคด้วยแล้ว
โดยให้เขาสัมผัสได้ เห็นได้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา
ว่าความไม่ยุติธรรมมันจะมีผลยังไงในรุ่นลูกหลานของพวกเขา
ต่อให้วันนี้ไม่โดนกับตนเองก็ตาม
หรือการยินยอมให้คนอื่นละเมิดสิทธิเสรีภาพ
และความเสมอภาคของพวกเขาหรือของคนอื่น
แต่ก็มากระทบพวกเขาไม่วันใดก็วันหนึ่ง
เพราะการออกกฏหมายใดๆ 
เพื่อมากำจัดสิทธิเสรีภาพของคนเพียงคนเดียว
มันก็ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า
เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฏหมายเดียวกันนั่นเอง
และมันจะทำให้รุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขา
มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค
มากกว่ารุ่นของพวกเขายังไง

เมื่อพวกเขารับรู้ได้และเห็นความต่าง
ของการมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค
ระหว่างมีและไม่ค่อยจะมีถึงไม่มี
บรรยากาศมันต่างกันยังไง
ซึ่งเขาก็จะออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพ
และความเสมอภาคของเขาเอง
รวมไปถึงการต่อต้านการทำรัฐประหารโดยอัตโนมัติด้วย

สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับลัทธิประชาธิปไตย 
ได้ที่นี่
<<< ลัทธิ ประชาธิปไตย >>>
http://maha-arai.blogspot.com/2009/03/1.html

2. มีเหตุผล 
ความมีเหตุผล เป็นรากฐานสำคัญ
ในสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ตามที่เคยบันทึกไว้แล้วที่นี่
<<< ความมีเหตุผล เป็นรากฐานสำคัญในสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ >>>
http://maha-arai.blogspot.com/2009/05/blog-post_7140.html

เพราะการมีเหตุผลจะช่วยให้การตัดสินใจของคน
ได้ข้อยุติที่สามารถยอมรับกันได้
ถ้าไม่เอาเหตุผลเน้นแต่เสียงข้างมากอย่างเดียว
ต่อให้โหวตชนะก็อาจคาใจ
อาจลากกันไปเล่นข้างถนนเหมือนทุกวันนี้ได้
แต่ถ้าสามารถเอาชนะกันได้ด้วยเหตุผล
ฝ่ายที่แพ้แก่เหตุผล มักจะยอมจำนนได้มากกว่า

การสอนให้คนมีเหตุผล
ก็ต้องสอนให้รู้จักหาข้อมูลมาโต้ตอบ
ไม่ใช่ใช้อารมณ์มาโต้ตอบอย่างเดียว
และสอนให้เขารักการอภิปรายโต้แย้งกับคนอื่น
เพราะการอภิปรายจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้
และรู้จักหาข้อมูลและนำไปใช้โต้ตอบ
โดยใช้เหตุผลประกอบ

อ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่นี่
<<< การอภิปรายโต้เถียง คือรากแก้วที่หล่อเลี้ยงต้นประชาธิปไตย >>>
http://maha-arai.blogspot.com/2009/08/blog-post_20.html

ซึ่งก็ต้องสอนเรื่องมีน้ำใจนักกีฬาควบคู่ไปด้วย
เพราะคนที่มีน้ำใจนักกีฬา
เวลารู้ว่าแพ้ด้วยเหตุผล
ก็จะมีน้ำใจเป็นนักกีฬายอมรับสภาพ

และคนที่ชนะก็จะไม่ซ้ำเติม
จนยั่วให้เกิดอารมณ์ได้

ซึ่งอาจทำให้คนแพ้ดื้อไม่รู้จักแพ้
จนบานปลายไม่สามารถจบกันด้วยเหตุผลได้ง่ายๆ

3. มีสติ 
ข้อนี้ก็สำคัญ
ถ้าคนไม่มีสติต่อให้เรียนมาสูงรู้มากยังไง
ก็อาจพากันลงเหวหรือทำอะไรกันแบบไร้สติ
จนเกิดความเสียหายต่อมวลชนส่วนรวมได้

เรื่องนี้ก็คงต้องสอนเรื่องการทำงานเป็นทีม
ให้รับรู้ว่าถ้าไม่มีสติจะทำให้ทั้งทีมเดือดร้อนกันยังไง
หรือยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่นำความสูญเสียมาให้อย่างใหญ่หลวง
เพราะความขาดสติของคนเพียงคนเดียว

4. มีปัญญา 
เมื่อมีทั้งเหตุผลและมีสติ
ปัญญาจะมาเอง

เพราะการค้นหาข้อมูล
เพื่อนำมาโต้แย้งกันด้วยเหตุผล

มันก็ทำให้เกิดความรู้เพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ
ซึ่งการมีความรู้เพิ่มมากขึ้น
ก็คือการมีปัญญาเพิ่มมากขึ้นดีๆ นี่เอง

5. มีความมุ่งมั่น
เป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่ง
ที่จะทำให้คนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ
จนต้องล้มเลิกความตั้งใจไปกลางคัน
ถ้าคนมีความมุ่งมั่นแล้ว
แม้วันนี้อาจจะทำงานนั้นงานนี้ไม่สำเร็จ
แต่เชื่อได้แน่นอนว่า
"หากยังมีความมุ่งมั่น วันแห่งความสำเร็จ ย่อมมีสักวันหนึ่ง"

การสอนบทเรียนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นแบบทางลัดที่ดี
ก็คือการพาเดินขึ้นภูเขาหลายๆ ภู
ทั้งภูกระดึง ภูสอยดาว ดอยหลวงเชียงดาว หรือโมโกจู
เริ่มจากง่ายๆ ฝึกไปแต่ละภู
อาจแค่สองสามภูก็ได้
ไม่จำเป็นต้องเหมาหมดอย่างที่ว่ามา

เพราะบางภูก็โหดไม่ใช่เล่น
เน้นแค่ว่าเคยผ่านอุปสรรคทำให้ท้อ
แต่เมื่อไม่ย่อท้อ
ก็มีสิทธิขึ้นไปถึงยอดเขาได้สำเร็จ ก็พอแล้ว


จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 กล้ากับ 5 มี 
แทบไม่เน้นวิชาการอะไรมากมาย
เพราะจะกลายเป็นความน่าเบื่อหน่าย
ควรเน้นให้เขานำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
จนกลายเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ถ้าวันใดวัฒนธรรมประชาธิปไตยในไทย
สามารถซึมเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน
ของคนไทยส่วนใหญ่ได้แล้ว

ก็เป็นหลักประกันได้ว่า
วัฒนธรรมประชาธิปไตยในไทยนั่น 
จะดำรงคงอยู่ได้สืบต่อไปนานแสนนาน
แต่ถ้าวัฒนธรรมใดๆ
ยุ่งยากแตะต้องไม่ค่อยได้

แถมไม่ค่อยได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ส่วนใหญ่วัฒนธรรมเหล่านั่น
สุดท้ายแล้ว
มักจะไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เสียมากกว่า


และการที่เกิดวิกฤตประชาธิปไตยในไทยครั้งนี้
สุดท้ายอาจมีโอกาสเกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตยใหม่ๆ
แบบไทย ไท
 ที่ไม่ใช่แบบไทยๆ เหมือนแต่ก่อนก็เป็นได้


---------------------------------------------

<<< Mind Map การต่อสู้แบบอหิงสา >>>

Mind Map การต่อสู้แบบอหิงสานี้
ยังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่
ลองนำมาให้ชมก่อนพอเป็นแนวทางคร่าวๆ
ซึ่งการต่อสู้เรื่องใดๆ 
มันมีหลายแนวทาง
แต่วันนี้เน้นแนวอหิงสาก่อน
ซึ่งเมื่อเจาะลึกลงไปในเรื่องนี้
พบว่าแกนแท้ของการต่อสู้แบบนี้
ก็คือหลักคำสอนหนึ่งของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ถ้าจะกล่าวว่าพระพุทธเจ้า
เป็นต้นตำรับของการต่อสู้ตามหลักอหิงสา
ก็ไม่น่าจะผิดนัก
เพราะหลักคำสอนเรื่อง
ศีล สมาธิ สติ ปัญญา
เป็นแนวทางต่อสู้แบบอหิงสาที่แท้จริง

ศีลนี่ที่จริงก็คือแนวทางที่กำหนดให้ทำตาม
เช่นห้ามทำนั่นนี่
เพื่อต่อสู้กับความไม่ดีต่างๆ
แต่เป็นแนวทางพิเศษกว่าปกติ
เพราะแนวทางที่จะทำจะต้องถูกต้องชอบธรรม
และสอดคล้องกับศีล 5 ข้อด้วย
ก็คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่พูดปด
ไม่ผิดประเวณี และไม่เสพของมึนเมา
จึงใช้ศีลแทนคำว่าแนวทางธรรมดา


ส่วนสมาธิก็คือความมุ่งมั่น
ตั้งใจที่จะทำสิ่งใดให้ประสบผลสำเร็จ

ส่วนสติก็ชัดเจนอยู่แล้ว
เป็นความยั้งคิดเพื่อไม่ให้พลาดพลั้ง
ในการทำเรื่องใดๆ

ส่วนปัญญาก็คือ
ความพยายามที่จะใช้ความรู้และเหตุผล
ในการแก้ปัญหาต่างๆ

สรุปทั้งหมด
จึงเขียนออกมาเป็น Mind Map ได้แบบนี้




















---------------------------------------------
13 อย่า

1. อย่าถวิลหาเผด็จการ
เช่น สนับสนุนการทำรัฐประหาร เป็นต้น
อย่าได้ถวิลหาเป็นอันขาด
เพราะเท่ากับยอมรับความชอบธรรม
พิธีกรรมของพวกเผด็จการ


2. อย่าเน้นผลาญเงินทุนเหมือนเคย
ก็เพื่อจะได้สู้ได้ยาวนาน
และถ้าไม่จำเป็น
พยายามจัดม็อบโดยใช้เงินทุนน้อยที่สุด
อะไรสิ้นเปลืองตัดได้ตัด
เพราะถ้าต้นทุนสูงก็ต้องพึ่งทุนสูง
ไม่มีนายทุนที่ไหนยอมจ่าย
ให้คุณเคลื่อนไหวได้นานๆ หรอก
เปลืองเงินเขาเหมือนกัน
ดังนั้นถ้าจะใช้แนวสู้นานๆ
หรือสู้ได้ไม่จำกัดแนวเพราะเรื่องเงินทุน
ก็ต้องพึ่งทุนให้น้อยที่สุด
เมื่อได้แล้วก็ช่วยประหยัดใช้เท่าที่จำเป็น
ไปไถไปขอบริจาคบ่อยๆ
จะทำให้คนบริจาค อยากหาทางหนี
ไม่อยากจะเจอหน้าเอาได้
เพราะเงินเขาก็คงหามาด้วยความลำบากเหมือนกัน
ถ้าจะให้ดีใช้ระดมเงินทุนของคนพอมีเงิน
แต่จำนวนคนบริจาคเยอะๆ
แล้วนำไปทำกิจกรรมที่ประหยัดสุดๆ
อย่านำไปใช้สุรุ่ยสุร่าย
จนเขานึกขึ้นได้ว่า
ชีวิตจริงเขาเป็นคนขี้เหนียว
ไม่กล้าจะกินจะใช้อะไร
อย่างที่เห็นคนรับบริจาคทำให้เห็นเลย


3. อย่าละเลยหลักประชาธิปไตยเด็ดขาด
อันนี้สำคัญยิ่ง
ถ้าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย
ต้องยึดหลักการประชาธิปไตยในทุกกรณี
จะมีเหตุการณ์มาท้าทายการตัดสินใจ
เพื่อทดสอบว่าเป็นนักประชาธิปไตยจริงหรือไม่
ถ้าพลาดตัดสินใจตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยวันไหน
คุณจะถูกขับไล่จากชมรมนักประชาธิปไตยในทันที
แล้วไม่มีโอกาสกลับมาอ้างว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตยอีก
ดังนั้นยึดหลักการให้มั่น
อย่าเน้นเอามัน เน้นตามกระแส
หรือเน้นผลประโยชน์ใดๆ
แทนหลักการประชาธิปไตย


4. อย่าคาดหวังลาภยศสรรเสริญ
ถ้าสู้เพื่อหวังลาภยศสรรเสริญ
โอกาสเดินหนีห่างม็อบที่สู้เพื่อประชาธิปไตยมีสูง
เพราะฝ่ายตรงข้ามรู้
ก็อาจประเคนสิ่งที่หวังให้
หรือนำมาหลอกล่อ
เพื่อให้ไปหาทางสู้กับพวกเดียวกันได้
เหมือนที่เห็นเป็นตัวอย่างอยู่ในตอนนี้


5. อย่ามัวเพลินกับผลประโยชน์
เรื่องเงินกับเรื่องม็อบ
เข้าไปที่ไหนวุ่นวายที่นั่น
แล้วถ้าไปยุ่งทั้งเรื่องม็อบเรื่องเงิน
สักวันก็ต้องมีปัญหาขัดผลประโยชน์จนทะเลาะกัน
มากกว่าจะมุ่งสู้เพื่อประชาธิปไตยกันอย่างเดียว


6. อย่าโทษกันไปมา
ถ้าเป็นเรื่องทำงาน
สามารถทำผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น
ไม่ควรโทษกันไปมาว่าใครเป็นคนผิด
เพราะจะไม่มีคนยอมรับ
หรือตั้งหน้าตั้งตาจับผิดกันอย่างเดียว
มากกว่าสุมหัวกันสู้ฝ่ายตรงข้าม
จนไม่กล้าทำอะไร
แต่การโทษเรื่องทำงานผิดพลาด
กับการวิจารณ์ว่าทำไม่ถูกวิธี มันคนละเรื่องกัน
ถ้าให้ไปยกของแล้วคุณยกไม่ขึ้น
การโทษว่ายกไม่ขึ้นไม่มีฝีมือไม่ได้เรื่อง
กับการวิจารณ์ว่าวิธีการที่ทำ ผิดวิธีหรือเปล่า
แล้วถ้ายกคนเดียวไม่ไหวทำไมไม่หาคนมาช่วย
ต้องแยกแยะให้ออก
ไม่ใช่ใครก็วิจารณ์ไม่ได้
ผมคิดว่าถ้าเป็นเพื่อนกัน
เห็นเพื่อนทำผิดแล้วนิ่งเฉย
ส่วนใหญ่เป็นแค่เพื่อนกินเพื่อนเที่ยวเท่านั้นเอง

7. อย่าสร้างอาณาจักรส่วนตน
ควรสร้างอาณาจักรส่วนรวม
อาณาจักรส่วนรวมในที่นี้
ก็คืออาณาจักรคนรักประชาธิปไตย
การสร้างอาณาจักรส่วนตน
เช่น การสร้างชมรมแฟนคลับ เป็นต้น
มีผลดียังไงต่ออาณาจักรประชาธิปไตยระยะยาว
เพราะเท่ากับมีแฟนคลับคนนั้นคนนี้
แต่แฟนคลับคนรักประชาธิปไตยกับไม่มี
วันดีคืนดีผลประโยชน์ไม่ลงตัว
คนทะเลาะกัน แฟนคลับก็ตามคนไป
แทนที่จะยึดหลักประชาธิปไตยไว้
ก็เห็นตัวอย่างคนที่ทำท่าเหมือนรักกันปานจะกลืนกิน
และหลายๆ คนที่ร่วมสู้กันมาช่วง คมช.
พอต่อรองตำแหน่งกันไม่ได้น้อยอกน้อยใจ
ไปหนุนพวกเผด็จการซ่อนรูปซะอย่างงั้นแหล่ะ
มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในปัจจุบัน
อนาคตก็อาจมีอีก เสียเวลาเปล่าๆ
แทนที่จะสู้แล้วมีคนรักประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
กลับมีโอกาสกลายไปยืนตรงข้ามฝ่ายประชาธิปไตย
เพราะอาจตามไปอยู่ตรงข้ามในฐานะแฟนคลับที่ดี


8. อย่าหวังผลเลิศ
การทำงานสิ่งใด 
อย่าไปหวังผลเลิศ
คิดแต่ด้านบวกอย่างเดียว
เพราะนั่นคือความประมาท
แล้วจะขาดความรอบคอบ
งานที่ยิ่งเสี่ยง
ก็ควรคิดในแง่ร้ายไว้ให้มากๆ
เมื่อคิดแง่ร้ายได้
ก็จะหาวิธีป้องกันแต่เนิ่นๆ
ดีกว่าชะล่าใจ
เกิดเหตุการณ์อะไรไม่ดี
ก็ไม่มีแนวทางแก้ไขอะไร
เพราะไม่เคยคิดเตรียมการป้องกันไว้ก่อน
สรุปว่า งานที่เสี่ยงมากๆ
ก็ควรคิดแง่ร้ายไว้มากๆ
แล้วหาทางป้องกันไว้
ส่วนผลดีๆ ที่จะได้รับ
ปล่อยให้มันเป็นเซอร์ไพรส์


9. อย่าเชิดชูบุคคลเหนืออุดมการณ์
การเน้นตัวบุคคล
ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ตามสถานการณ์
ไม่สมควรไปยึดถือมากหรือเชิดชูให้มาก
ควรเชิดชูอุดมการณ์ดีกว่า
เพราะเราไม่ได้มารวมกัน
เพราะเป็นแฟนการแสดงหรือแฟนเพลง
ของดารานักร้องอะไร
แต่เรามารวมกันเพื่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ก็ต้องเชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตยไว้เหนือสิ่งอื่นใด
ไม่ควรเชิดชูใครให้เหนืออุดมการณ์
แต่สามารถยกย่องเชิดชูบุคคลได้
ในแง่ การเสียสละ ความกล้าหาญ หรือการทุ่มเท
ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
แต่ถ้าวันใดต้องเลือกข้าง
ระหว่างบุคคลกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ขอให้เลือกอุดมการณ์เป็นหลัก
เพราะจะไปต่อได้
แต่ถ้าเลือกบุคคลไปต่อได้
แต่คงไปแบบคู่ขนาน
กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยแน่นอน


10. อย่าพาลพูดเท็จบิดเบือนการไม่เน้นพูดเท็จ
ก็เพื่อทำให้คนทั่วไปศรัทธา
เพราะการพูดเท็จจนชาวบ้านจับได้
แม้เพียงครั้งเดียว
ก็อาจทำให้เสียเครดิตทางคำพูดไปได้
ถ้าคนที่ไม่มีเครดิตทางการเงิน
คือคนที่ตายแล้วในทางธุรกิจ
คนที่ไม่มีเครดิตทางคำพูด
ก็คือคนที่ตายแล้วในทางสังคม
11. อย่าเคลื่อนไหวผิดกฏหมาย
การเคลื่อนไหวแบบผิดกฏหมาย
สุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับ
จนไม่สามารถไปต่อได้ยาวนาน

อย่าเอามันแค่ระยะสั้นๆ
เพราะยังต้องต่อสู้ด้วยกัน
อีกหลายยกและยาวนาน

การเน้นเอามันเอาสะใจแล้วไปต่อไม่ได้
อาจทำให้ทั้งทีมรวนเรจนถึงซวนเซได้
ขอให้คิดว่าทุกท่านคือฟันเฟืองเล็กๆ
ถ้าขาดไปเครื่องจักรก็อาจทำงานไม่ได้
หรือได้แต่ไม่ดี

ดังนั้นควรช่วยกันมีสติดูแลตัวเอง
เพื่ออยู่สู้ร่วมกันให้ยาวนานที่สุด


12. อย่าลืมว่ามีสายสืบอยู่ทุกที่
ต้องเชื่อว่ามีสายหน่วยข่าวกรองอยู่ทุกที่
ถ้าทำงานด้านข่าวกรองของประเทศ
แล้วไม่มาหาข่าวให้เชื่อว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด
ดังนั้นไม่ควรไว้ใจใครทั้งนั้น
ไม่ว่าจะมาในรูป เด็ก สตรี และคนชรา หรือนายทุนก็ตาม
แต่การระวังหน่วยข่าวกรองไปหมด
จนเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้เพราะระแวงไปหมด ก็ไม่ดี
ถึงได้เน้นตั้งแต่ช่วงต้นๆ แล้วว่า
ทำให้ถูกกฏหมาย
เปิดเผย เปิดวิธีการสู้
เรียกว่าไม่ต้องกลัวการมาหาข่าว
ก็เปิดหน้าเล่นและเผยแพร่ต่อสาธารณชนแบบนี้
ดังนั้นวิธีที่คิดมาใช้ต้องถูกกฏหมาย
และต่อให้ฝ่ายตรงข้ามรู้
ก็มึนไม่รู้จะแก้ยังไง
นั่นแหล่ะคือวิธีที่ดีที่สุด
การหลบๆ ซ่อนๆ มักทำอะไรแบบขาดสติ
ขาดความยั้งคิดเพราะคิดว่าไม่มีใครรู้
แต่จริงๆ หารู้ไม่ว่า
บางทีคนที่ท่านไว้ใจที่สุด
อาจเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้เลยก็ได้


13. อย่าคิดว่าคนภักดีจะไม่เปลี่ยนไป
ตอนนี้ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง
คนที่แต่ก่อนเคยทำตัวเหมือนรักกันปานจะกลืนกิน
แต่วันนี้แทบเป็นศัตรูคู่อาฆาต
รวมไปถึงคนเคยร่วมสู้ต่อต้านเผด็จการมาด้วยกัน
ขนาดเคยขึ้นเวทีปราศรัยต่อต้านเผด็จการเสียด้วยซ้ำ
วันนี้ยังร่วมขบวนงูเห่า
ไปร่วมกับพวกแนวร่วมเผด็จการซ่อนรูป
รวมไปถึงอนาคต
ไม่แน่อาจมีพวกงูเห่าที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง
เพราะคำว่าผลประโยชน์
บางที่ถ้าตัดไม่ขาด
ฝ่ายตรงข้ามอาจนำมาล่อ
เพื่อให้จัดการพวกเดียวกันเอง
เพื่อแลกผลประโยชน์เป็นไปได้ทั้งนั้น
จึงให้เน้นทำอะไรแบบเปิดเผยโปร่งใส
ไม่ต้องกลัวโดนหักหลัง
หรือโดนแฉกลับในภายหลัง
ในวันที่แตกคอกัน
ดังนั้นอย่าคิดว่าการไปแอบสั่งให้ทำนั่นนี่
ที่เสี่ยงผิดกฏหมายแล้วไม่มีใครรู้
แล้วถ้าวันหนึ่งพวกที่เคยสั่งให้ไปทำอะไรแปรพักตร์
เขาจะไม่เอามาแฉหรือมาแบล็คเมล์ในภายหลังรึ



---------------------------------------------

8 เน้น

1. เน้นบุ๋นมากกว่าบู๊
2. เน้นสู้อย่างเปิดเผย
3. เน้นเหมือนเคยตัดสินด้วยเหตุผล
4. เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง
5. เน้นสร้างคนให้ฉลาด
6. เน้นเด็ดขาดต้องสู้จนชนะ
7. เน้นพบปะแบ่งงานกันทำ
8. เน้นประจำให้เพิ่มมวลชน


<<< หลักสูตรแนวทางปฏิบัติ ในการงัดข้อกับเผด็จการ >>>

รวบรวมมาจากประสบการณ์
ที่ได้รู้ ที่ได้เห็น จากการเป็นผู้ติดตาม
การต่อสู้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
หลายข้ออาจไปสะกิดใครบางคน
อันนี้ต้องขออภัย
เพราะผมเน้นให้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง
ไม่ใช่เฉพาะการต่อสู้ในครั้งนี้อาจเป็นครั้งหน้า
หรือนานาประเทศสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางได้
เรียกว่าทำทั้งทีเน้นเป็นสากล
ทั่วโลกนำไปใช้ได้เหมือนกัน

แนวทางที่เสนอเป็นแนวทางสำหรับการต่อสู้
ในสถานการณ์ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงรัฐประหาร
ถ้าอยู่ในช่วงนั้น อาจมีการปรับเปลี่ยนแนวทาง
ให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ
สถานการณ์ยามนี้
คล้ายๆ กับการเรียกร้องเอกราชของอินเดีย
ที่นำโดย มหาตมะ คานธี
อังกฤษก็แกล้งเล่นแรงจับคานธีไปขังคุก
ด้วยข้อหาแปลกๆ ก็มี
แต่สุดท้ายแล้ว ก็พ่ายแพ้ต่อพลังประชาชน
ถึงแม้อังกฤษจะมีกองกำลังอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรยังไง
ถ้าคนส่วนใหญ่ในแผ่นดินนั้นไม่สนับสนุนด้วย
แล้วยังกล้าลุกขึ้นมาแสดงตนให้เห็นหัว
เป็นใครก็กลัวไม่กล้างัดข้อกับคนจำนวนมากๆ อย่างนั้น
นอกจากจะยอมเป็นฆาตกรระดับโลก 
สั่งฆ่าทิ้งให้หมด
ก็จะยิ่งทำให้พวกมีอำนาจเสื่อมศรัทธาลงไปเรื่อยๆ
และก็ฆ่าไม่ได้หมดด้วย
แถมอยู่ในยุคที่มีศาลโลกและคนทั้งโลก
สามารถเข้ามายุ่งด้วยได้
ถ้ามีการกระทำเกินกว่าเหตุจนเขารับไม่ได้

เรียกว่างานนี้สู้กันด้วยมวลชน
เมื่อสู้กันด้วยมวลชน
ก็ต้องสู้เหมือนพวก ส.ส. หาเสียงนั่นแหล่ะ
เป็นวิธีการที่ดีที่สุด
ประเภทลับๆ ล่อๆ เล่นใต้ดิน
ไม่มีทางที่มวลชนจะรับรู้ได้หรือเข้าใจตรงกัน
และอันตรายมากกว่า โอกาสโดนตัดตอน
ซึ่งจะเข้าทางการพยายามหาทางตัดตอน
การเติบโตของมวลชนของอีกฝ่ายอยู่แล้ว

---------------------------------------------

10 แนวทาง
แนวทางที่แนะนำ

1. รักการโต้ตอบ

คำแรกที่ผุดขึ้นมาในห้วงเวลาที่กำลังสับสน
ว่าเราจะเริ่มต้นบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัว
เกี่ยวกับหลักสูตรนี้ยังไง
แรกๆ เขาแถมา เราแถกลับ
หลังๆ เริ่มลดอารมณ์ทิ้งไปบ้าง
แต่ยังมีติดไว้เพื่อไม่ให้มันจืดชืด
เพราะอะไรที่มันเรียบๆ จืดชืด บางทีก็น่าเบื่อ
เราอยากให้ตัวหนังสือของเรา
มีอารมณ์บ่งบอกถึงอารมณ์ ณ ช่วงเวลานั้นๆ
มันเหมือนคุณดูหนังแล้วมีการพากย์หนัง
ไม่ว่าจะตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ เศร้าใจ
โทนเสียงเดียวกันทั้งเรื่อง
มันน่าดูไหมหนังเรื่องนั้น
พาลจะง่วงเหมือนนำหุ่นยนต์มาแสดง
หนังสือก็แนวเดียวกัน
ถ้าเขียนวิชาการมากๆ
บางคนอาจ บ๊ายบาย
เอาไว้วันหลังมีอารมณ์ค่อยอ่านแล้วกัน
แม้แต่การจัดรูปแบบให้อ่าน
การให้อ่านทีละท่อนสั้นๆ อย่างที่เราทำ
บางทีคนหลงอ่านตั้งนาน
นึกว่ามันมีนิดเดียว แต่บางทีก็มีซะยาวเลย
ในขณะที่ถ้าเขียนให้มันยาวเป็นพืดไปหมด
ความน่าเบื่อหน่าย ความน่าอ่านก็หายไปด้วย
ยิ่งยุควัยรุ่นใจร้อนแบบนี้ด้วย
เดี๋ยวผมจะลองนำที่เขียนทั้งหมดในข้อ 1. ข้างบน
จัดรูปแบบเป็นอีกอย่างหนึ่ง
เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบนี้

"1. รักการโต้ตอบ คำแรกที่ผุดขึ้นมาในห้วงเวลาที่กำลังสับสนว่าเราจะเริ่มต้นบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับหลักสูตรนี้ยังไง แรกๆ เขาแถมา เราแถกลับ หลังๆ เริ่มลดอารมณ์ทิ้งไปบ้าง แต่ยังมีติดไว้เพื่อไม่ให้มันจืดชืดเพราะอะไรที่มันเรียบๆ จืดชืด บางทีก็น่าเบื่อ เราอยากให้ตัวหนังสือของเรามีอารมณ์บ่งบอกถึงอารมณ์ ณ ช่วงเวลานั้นๆ มันเหมือนคุณดูหนังแล้วมีการพากย์หนัง ไม่ว่าจะตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ เศร้าใจ โทนเสียงเดียวกันทั้งเรื่อง มันน่าดูไหมหนังเรื่องนั้น พาลจะง่วงเหมือนนำหุ่นยนต์มาแสดง หนังสือก็แนวเดียวกัน ถ้าเขียนวิชาการมากๆ บางคนอาจ บ๊ายบาย เอาไว้วันหลังมีอารมณ์ค่อยอ่านแล้วกันแม้แต่การจัดรูปแบบให้อ่าน การให้อ่านทีละท่อนเล็กๆ อย่างที่เราทำ บางทีคนหลงอ่านตั้งนาน นึกว่ามันมีนิดเดียว แต่บางทีก็มีซะยาวเลย ในขณะที่ถ้าเขียนให้มันยาวเป็นพืดไปหมด ความน่าเบื่อหน่าย ความน่าอ่านก็หายไปด้วย ยิ่งยุควัยรุ่นใจร้อนแบบนี้ด้วย เดี๋ยวผมจะลองนำที่เขียนทั้งหมดในข้อ 1. ข้างบน จัดรูปแบบเป็นอีกอย่างหนึ่ง ให้ดูเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบนี้"

ไม่ว่าท่านจะชอบการโต้ตอบหรือไม่
ถ้าเป็นเรื่องประชาธิปไตยแล้ว
ท่านได้เห็นบ่อยๆ แน่
เช่น การอภิปรายต่างๆ,
รวมไปถึงการประชุมต่างๆ เป็นต้น
ในเมื่อหลีกหนีไม่พ้น
ยิ่งพยายามไม่อยากเห็น ไม่อยากให้มี
ก็เท่ากับท่านหนีห่างจากหลักการประชาธิปไตยไปทุกขณะ
ดังนั้นเมื่อหลีกหนีไม่พ้นในสังคมประชาธิปไตย
ก็รักมันซะเลย
การรักการโต้ตอบ จะทำให้ท่านมีความรู้เพิ่มอย่างแน่นอน
เพราะธรรมชาติมักจะทำให้คนชอบเถียงแบบไม่ยอมแพ้
เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้ ก็จะไปหาข้อมูลมาหักล้างกัน
ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักรบไซเบอร์ ( Cyber Warrior )
และ นักรบสภากาแฟ ( Coffee Council Warrior ) 

วิธีการโต้ตอบทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อหน่าย
เราก็พึ่งรู้ว่า ทำไมในศาสนาพุทธนิกายมหายาน
แถวๆ ธิเบต คุณจะเห็นพระ เณร เด็กๆ
จับคู่ทำท่าราวกับทะเลาะกัน
คนหนึ่งยืนกระทืบเท้า
ตบมือใส่หน้าอีกคนที่กำลังนั่งอยู่
เพื่อให้รู้สึกเครียด กดดัน
พึ่งรู้ว่านี่เป็นวิธีการเรียนแนว ปุจฉา วิปัสนา 
เกี่ยวกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เหตุผลที่เขาต้องทำท่าเหมือนจะทะเลาะ
แต่พอหมดเวลาเรียน
อาจเห็นกอดคอกันเดิน 
เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ก็เพราะว่าวิชาด้านศาสนานั้น
เป็นวิชาที่น่าเบื่อที่สุดในโลก
ถ้าต้องนั่งท่องจำคัมภีร์ต่างๆ
และต้องศึกษาให้เข้าใจด้วยแล้ว
เป็นอะไรที่น่าเบื่อหน่ายที่สุด

อย่างเราตำราเรียนวิชาอะไรก็แล้วแต่
เราอ่านได้ไม่เกิน 15 นาทีหลับ
จากนั่งเป็นเริ่มเลื้อยแล้วก็ใช้วิธีซึมเข้าทางผิวหนัง
แทนการผ่านทางสายตาแล้วใช้สมองจดจำ
มันน่าเบื่อมากจริงๆ
แต่ถ้าลองเถียงทะเลาะกับคนอื่น
วิชาที่เกลียดที่ไม่อยากเรียน
โดยเฉพาะพวกท่องจำทั้งหลาย
ไม่ว่าจะกฏหมาย รัฐศาสตร์ หรือ เศรษฐศาสตร์ อะไร
เรากลับไปอ่านจุดที่จะเอามาโต้ตอบ
และเอามาคิดวิเคราะห์แล้วนำไปตอบ
ทำแบบนี้บ่อยๆ รวมทั้งตอบบ่อยๆ
กับกระทู้เรื่องเดิมๆ แค่เปลี่ยนหน้าคนโพสมาเรื่อยๆ
ก็เลยจำได้เองแต่จำได้แค่โครงหลักน่ะ
รายละเอียดจำไม่ได้มาก
ก็เลยต้องบันทึกเก็บเอาไว้
วันหลังอาจลดความจำเจที่จะต้องตอบซ้ำๆ บ่อยๆ
ก็ Copy ที่เราเคยตอบมาแปะแทน
สุดท้ายก็ไปเปิดเว็บเพื่อเก็บข้อมูลไว้
เพื่อจะได้ให้คนอื่นสามารถมาอ่าน
มาหาความรู้ หรือเอาไปอ้างอิงได้ด้วย
ดูเรื่องราวต่างๆ ที่เริ่มบันทึกลงเว็บ
ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ปีนี้เอง
ที่นี่ http://maha-arai.blogspopt.com

สำหรับหน้าใหม่ใจรักจะเป็นนักรบไซเบอร์บ้าง
แต่ไม่รู้เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเรื่องการเมืองมาก่อนในชีวิต
ท่านมีทางลัดที่จะเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้น
อย่างเร็วและประหยัดที่สุด

ก็คือลองอ่านทุกบทความที่ผมเขียนไว้ในเว็บนั้น
ถ้าอ่านจบแล้วผมรับประกันให้ได้ว่า
ท่านจะมีความรู้ด้านการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ต่อจากนั้นท่านกับผมก็เริ่มศึกษาเรื่องใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน
จะเห็นได้ว่าท่านมีทางลัดที่เรียนตามทันได้อย่างว่องไว
ผิดกับสมัยผมหาเว็บแบบนี้ค่อนข้างยาก
ส่วนใหญ่แต่ละเรื่องกระจายกันไปแต่ละเว็บ
ต้องไปค้นหาผ่านเว็บ www.google.com
หรือบางเรื่องก็มีอยู่ในหนังสือ
เรื่องนั้นนิด เรื่องนี้หน่อย เป็นร้อยๆ เล่มเห็นจะได้
จะเห็นได้ว่า ท่านจะศึกษาได้อย่างประหยัด
และรวดเร็วกว่าที่ผมเคยศึกษามา


2. ชอบการหาข้อมูล

ถ้ารักการโต้ตอบ แต่ไม่ชอบการหาข้อมูลแล้ว
ก็มีแต่การด่าทอ ดิสเครดิตกันไปมา
และแถกันสีข้างแดงไปข้างหนึ่ง
สร้างความน่าเบื่อหน่ายได้เหมือนกัน
สมัยก่อนเริ่มใหม่ๆ ผมก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน
แต่ผมคิดว่าคนเราอายุมากขึ้น
โตขึ้นก็ควรพัฒนาอย่างอื่นมากขึ้นไปด้วย
ก็เลยพยายามลดเรื่องอารมณ์
จากที่เอามันทุกกระทู้
ก็เหลือเฉพาะกระทู้เหลืออดเท่านั้น
นอกนั้นก็พยายามหาความรู้มาตอบให้ได้มากที่สุด
ซึ่งระหว่างหาความรู้
ในการค้นหาผ่านเว็บ www.google.com
ท่านอาจไปเจอเรื่องราวแปลกใหม่โดยบังเอิญ
และก็จะเห็นประเด็นที่ต้องการค้นหาเพิ่มเติม
ซึ่งถ้าเป็นเรื่องเก่าๆ
ลองไปหาที่เว็บ http://maha-arai.blogspopt.com ได้เลย
โปรโมทแล้วโปรโมทอีก
ไม่ได้อยากทำสถิติอะไร
เพราะไม่ได้ใช้เพื่อไปขอทุนที่ไหน
แต่มันเป็นทางลัดที่ง่ายขึ้น
และนอกเหนือจากเว็บเราแล้ว
ที่เหลือลองหัดค้นด้วยตนเองดู
ไม่ยากอย่างที่คิด

วิธีการค้นข้อมูลใน google
อันที่จริงมีเว็บให้ค้นหาหลายเว็บ
ทั้ง yahoo , sanook หรืออื่นๆ
ลองพยายามดูเพราะแต่ละค่าย
คุณอาจเข้าถึงข้อมูลที่ต่างกัน
อย่าง google กับ yahoo จะเห็นได้ชัด
เพราะว่าสองค่ายนี้เหมือนเป็นคู่แข่งทางการค้า
คุณค้นหาด้วย คำเดียวกัน
แต่ผลที่แสดงบนเว็บที่เจอจะต่างกัน
โดยเว็บที่เกี่ยวข้องที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ
หรือจ่ายเงินโฆษณาแต่ละค่ายจะต่างกันไป
ผลก็จะเป็นอย่างที่เห็นถ้าไปลองทำดู

เมื่อได้ข้อมูล ที่ค้นหามาได้แล้ว
ต้องใช้เหตุผลมาตรองดูด้วยว่า
เรื่องนั้นเรื่องนี้จะตอบประเด็นที่เราอยากรู้ไหม
ถ้าหาไม่ได้ ให้ลองหาใหม่
ถ้าหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ โต้ตอบไม่ได้จริงๆ

แล้วท่านก็วิเคราะห์แล้วว่าน่าจะเป็นตามนั้น
ก็คือโต้ไม่ได้
ก็ต้องยอมรับสภาพว่าประเด็นนั้นเถียงไม่ขึ้นจริงๆ
อย่าไปพยายามแถ เบี่ยงเบนประเด็น
หรือใช้วิธีดิสเครดิตคนที่โต้ตอบด้วย
หรือหนักหน่อยเล่นข่มขู่ผมรู้น่ะคุณเป็นใครอะไรทำนองนี้
ใครเขารู้ใครเขาเห็นอาจสรรเสริญถึงโครตเหง้าเอาได้

อย่างกรณีที่ยกมาเรื่องข่มขู่
ทำนองผมรู้น่ะคุณเป็นใคร
กับผู้หญิงที่เล่นใน Pantip
ถ้าเป็นสมัยก่อน
ผมอาจย้อนกลับไปว่า
ผมก็รู้น่ะว่าคุณเป็นใคร
เพราะผมก็หาข้อมูล
สืบสาวข้อเท็จจริงผ่านคอมพิวเตอร์
มาหลากหลายเรื่องแล้วเหมือนกัน
แค่ใช้วิธีที่เคยใช้ก็พอจะเดาได้เหมือนกัน เป็นต้น
อันนี้ยกตัวอย่างให้ฟังน่ะ
จะเห็นว่าถ้าท่านชอบค้นหาข้อมูล
และพอรู้แนวทางแล้ว
ท่านก็คือนักสืบสวนทางอินเตอร์เน็ตดีๆ นี่เอง


3.สูญเสียหน้าต้องยอม

เมื่อรักการโต้ตอบ ชอบการหาข้อมูล
ต่อไปถึงจะสูญเสียหน้าก็ต้องยอม
ต้องพร้อมเสมอที่จะหน้าแหก หน้าแตก
หรือรู้สึกสูญเสียหน้าอะไร
คนไม่เคยหน้าแตกก็มักกลัวมากๆ ที่จะหน้าแตก
แต่สำหรับผมแล้วผมชอบ
หรือไม่ชอบแต่มันเกิดหน้าแตกบ่อยๆ เอง ก็เลยชิน
คือครั้งแรกอาจมีอารมณ์รับไม่ได้ อาย เครียด
หรือแทบแทรกแผ่นดินหนี
นานๆ ไปเดี๋ยวมันก็ด้านเอง
แล้วจะเฉยๆ มากกับเรื่องหน้าแหกหน้าแตกอะไร
บางทีมันไม่ยอมหน้าแตกยังรู้สึกไม่สนุกก็มี
ดังนั้นโดนบ่อยๆ มันก็จะเป็นเรื่องปกติ
ถามว่าทำไมถึงเน้นให้หน้าแตกบ่อยๆ
หรืออย่ากลัวการหน้าแตก
ก็เพราะบางครั้งเราต้องกล้าคิด กล้าทำ
บางทีมันก็นำมาซึ่งสิ่งที่เราคาดไม่ถึง
เช่น เราอาจหาข้อมูลมาโพส
แล้วมีคนมาแย้งได้
หรือจับผิดสิ่งที่เรานึกว่าถูกได้
เราก็อาจรู้สึกหน้าแหก
ซึ่งหลังๆ ถ้าเจอแบบนี้ก็ต้องขอโทษ
แต่อย่าหยุดเพราะกลัวหน้าแหก
ไม่เช่นนั้นท่านจะไม่กล้าที่จะคิด
ไม่กล้าที่จะนำเสนออะไรเลย
เพราะกลัวไปหมด 
นั่นก็กลัว นี่ก็กลัว

ว่าแล้วขอเป็นกองเชียร์
ไม่กล้าแม้แต่จะโพส
มันจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย
อย่ายึดคติโบราณว่า ให้ฟังอย่างเดียว
เพราะถ้าทุกคนยึดถือปฏิบัติตามกันเคร่งครัดทุกคน
เสมือนหนึ่งว่าคตินี้ถูกต้อง
สุดท้ายจะเหลือใครพูดหล่ะ
คงไม่มีคนฟังกันอย่างเดียว
โดยไม่มีคนพูดแน่ๆ
แต่สำหรับผม อยากแนะนำว่า
พูดบ้างก็ได้อย่าเอาแต่ฟังอย่างเดียว
ถ้าท่านคิดจะฟังอย่างเดียว
ท่านก็จะรับรู้เฉพาะเรื่อง
ที่เขาอยากจะบอกให้ฟังอย่างเดียวเหมือนกัน
เรื่องลึกๆ นอกเหนือจากนั้น
ท่านจะไม่มีโอกาสรู้อะไรเพิ่มเติม
และสมองก็ทำหน้าที่รับอย่างเดียว
ไม่ได้คิดอะไรเท่าไหร่
ถ้าลองพูดหรือโพสโต้ตอบถามบ้าง
ก็แสดงว่าสมองมีการประมวลผลสิ่งที่ได้รู้ได้เห็น
เช่น อาจารย์สอน ก็นั่งจดนั่งฟังกันอย่างเดียว
อาจารย์บางคนก็ตั้งหน้าตั้งตาพูดๆ อย่างเดียว
แบบนี้คิดว่าจะมีอะไรใหม่ไหม มีอะไรพัฒนาไหม
คนฟังก็จดไป คนสอนก็สอนเหมือนที่เคยสอน
ในขณะที่สไตล์ฝรั่ง
ครูไม่เน้นสอนเน้นให้ไปอ่านเองแล้วมาถาม
ว่าไม่เข้าใจอะไรตรงไหน
หรือไม่ก็ให้ลองอภิปรายลองออกความคิดเห็น
ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้คิดยังไง
คุณสามารถแย้งอาจารย์ได้ด้วย
เมื่อเจอคำแย้ง จนอาจารย์ท่านนั้นตอบไม่ได้
ก็ต้องไปขวนขวายหาความรู้เพิ่ม
เพื่อมาสอนแก่เด็กรุ่นต่อไป
เพื่อกันตนเองหน้าแตกด้วย
ก็จะช่วยให้อาจารย์ขยันหาความรู้ใหม่ๆ
ส่วนใหญ่คนมีนิสัยเป็นอาจารย์
รู้อะไรมามักมาเล่าให้ฟัง
ก็จะทำให้ทั้งศิษย์และอาจารย์
มีความรู้มากขึ้นไปเรื่อยๆ
มากกว่าการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมสไตล์ไทยแท้


ขอยกตัวอย่างประโยชน์ของการไม่กลัวหน้าแตกอีกสักเรื่อง
เป็นประสบการณ์ตรงของตัวเอง
บอกตรงๆ ว่าภาษาอังกฤษแย่มาก
จบ ป.ตรีได้ แบบอาจารย์คงจะถีบให้มันจบๆ ไป
เกรดก็ได้เกรด D จนถึงเกรด D- ยืนพื้น
เรียกว่าให้ซ้ำชั้นเรียนใหม่ก็ไม่น่าเกลียด
เคยท้าเพื่อนในกลุ่มว่า
ถ้าผลสอบงวดนี้ออกมาใครได้คะแนนดีกว่าเลี้ยง
กะว่าทั้งชั้นเราต่ำสุดชัวร์
ประเภทเดินแจกกระดาษคำตอบไม่ทั่วห้องดี
เราก็หลับหูหลับตากาเกือบเสร็จแล้ว
ปรากฏว่าเรายังต้องเสียเงินไปเลี้ยงเพื่อนคนนั้น
เซ็งเลยนึกว่าเจ๋งสุดในห้องท้อปบ๋วยแล้วน่ะเนี้ยะ
ไงมีคนได้คะแนนน้อยกว่าเรา รู้สึกรับไม่ได้
เลยไม่กล้าท้าเพื่อนคนนั้นอีกเลย

จบมาหลายปีก็ไม่มีอะไรดีขึ้นสำหรับภาษาอังกฤษ
แต่แล้วจู่ๆ ได้ไปเที่ยวเนปาลกับเพื่อนๆ
โดยพี่ที่ทำงานที่เกษียณไปแล้ว
ให้ยืมเงินก่อน แล้วกลับมาผ่อนเขาจนหมด
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไม่กี่ปีมานี้เอง
ในทริปนั้นเราได้รู้จักเพื่อนใหม่เป็นฝรั่ง
เราก็มั่วๆ ถามนู้นนี่เหมือนเด็กๆ ฝรั่งไม่กี่ขวบพึ่งหัดพูด
What? แล้วก็ชี้นิ้ว แล้วก็พูดอะไรไม่รู้
ออกเสียงผิดฝรั่งฟังไม่เข้าใจ
แต่ก็พยายามหาเรื่องคุยตลอดทาง
ทั้งๆ ที่ในคณะเรานั้น
มีคนพูดภาษาอังกฤษคล่อง
และเก่งกว่าเรา
หลายคนทีเดียวในตอนนั้น

กลับไม่ค่อยกล้าพูดกัน
จะพูดแต่ละทีกลัวผิดเสียเป็นส่วนใหญ่
แต่สำหรับเราแล้วมันเหมือนเป็นการจุดประกาย
ว่าอยากจะพูดภาษาอังกฤษให้ได้บ้าง
จากวันนั้นกลับมา
ด้วยความอยากจะพูดภาษาอังกฤษให้ได้

เจอฝรั่งเป็นเข้าไปทักทาย ไปชวนคุย
หน้าแหกแล้วหน้าแหกอีก
จนเมื่อไม่นานมานี้
เพื่อนฝรั่งคนเดิมมาเที่ยวเมืองไทย
แล้วก็พึ่งจะกลับไปไม่กี่อาทิตย์นี้
ยังชมว่าเราพูดได้มากขึ้น
และเป็นประโยคฟังรู้เรื่องกว่าเก่าว่ายังงั้น
นี่เป็นผลจากการเฉยๆ กับการหน้าแหกแล้วนั่นเอง
เลยเอาไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ด้วย


4. ถนอมกำลังใช้แต่สมอง

จะว่ากลอนพาไปก็ใช่ที่
ฟังแล้วดูมีเกี่ยวข้องเหมือนกัน
เรื่องนี้เน้นย้ำไม่ให้ใช้กำลัง
ให้ใช้แต่สมองก็เพราะว่า
ถ้าคุณคิดใช้แต่กำลัง
คุณก็สามารถชนะคนได้ไม่กี่คน
แต่ถ้าคุณใช้สมอง
บางทีคุณอาจชนะใจคนได้ทั้งแผ่นดิน
ชีวิตจริงอาจไม่เหมือนหนังจีนกำลังภายใน
ประเภทคนเดียวรบกับคนเป็นหมื่นเป็นแสนได้
ยิ่งถ้าคุณไม่เชี่ยวชาญการต่อสู้ด้วยกำลัง
แล้วคุณเลือกวิธีใช้กำลังกับคนที่เชี่ยวชาญกว่า
มีความพร้อมใช้กำลังมากว่าคุณ
โอกาสชนะแทบไม่มี
แต่ถ้าคุณใช้สมอง
ถ้าคุณไม่เลือกเล่นในแนวทางที่เขาถนัด
แล้วลากเขามาเล่นในแนวทางที่เขาไม่ถนัด
โอกาสชนะของคุณก็ยังมี
ในเมื่อรู้ว่าเขาถนัดใช้กำลัง
ทำไมเราไม่มาเน้นใช้สมอง
ถ้าคุณมีเหตุผลในการโต้ตอบ
ต่อให้ฝั่งตรงข้ามมีกองกำลังเป็นล้าน
ก็ไม่สามารถช่วยแย้งข้อมูลอะไรได้
เพราะพวกนั้นถูกฝึกมาให้รอรับคำสั่งกันอย่างเดียว
การสู้กันด้วยเหตุผล
ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันในเรื่องจำนวนคนสู้
จะ 1 : 100 หรือ 1 : 1,000,000 อะไร
ก็สู้ได้ทั้งนั้น เพราะเอาชนะกันด้วยเหตุผล
ไม่ได้เอาชนะกันด้วยกำลัง
แล้วก็ไม่มีสูตรที่ว่า
ถ้าฝ่ายไหนมีจำนวนสมองเยอะ
ก็จะมีสมองมากกว่าอีกฝ่าย
ถ้ามีเยอะแล้วคิดไม่เป็นหาเหตุผลไม่ได้
ถึงมีเยอะถ้ามีแต่รอรับคำสั่งอย่างเดียว
สมองที่จะใช้เพื่อหาเหตุผลผมว่ามีไม่เยอะ
ดังนั้นการสู้รบกันด้วยเหตุผล
จึงไม่เกี่ยวกับจำนวนคน
แถมยังเป็นการลบข้อด้อย
ด้านกำลังที่น้อยกว่าอีกฝ่ายด้วย

ไหนๆ ก็พูดถึงการใช้สมอง
ก็ขอลองแนะนำ
เรื่องระบบการเรียนสอนของไทย
สักเรื่องสองเรื่อง

กรณีหลักสูตรคณิตศาสตร์
ควรเน้นปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็ก
เรียกว่าปลูกฝังแฝงในโจทย์เลข
เช่นฝรั่งสอนเด็กให้รู้จักการวิเคราะห์แยกแยะ
เวียตนามสอนเด็กให้รักชาติ

เห็นบอกมีโจทย์ประเภทนับลูกระเบิด
ที่เวียตนามโดนอเมริกาถล่ม
ส่วนพี่ไทยสอนเด็กเน้นการช็อปปิ้งเป็นหลักประเภทมีเงินไปซื้อนั่นซื้อนี่เหลือเงินเท่าไหร่
โตขึ้นมาก็เลยมีแต่นักช็อปปิ้งกันเต็มไปหมด
หรือไม่โตมาก็เอาแต่ขอเงินพ่อแม่ไปซื้อนั่นซื้อนี่

ที่จริงควรสอนให้มีเงินเอาไปลงทุน
คิดดูเด็ก ป.1 ป.2 รู้จักคำว่าลงทุน
ทำมาค้าขาย ทำนั่นทำนี่
แล้วจะได้กำไรเท่าไหร่
เท่ห์กว่ามีเงินแล้วเอาไปซื้อขนมเป็นไหนๆ
โตขึ้นก็อาจมีนักธุรกิจไทยเพิ่มขึ้น
หรืออีกอย่างหัดให้วิเคราะห์ขั้นสูงขึ้นมาหน่อย
เช่นมีเงิน 10 บาท กินขนมไป 4 บาทจะเหลือกี่บาท
ต้องสอนให้ตั้งสมการไม่ใช่นั่งเทียนเดา
อย่างกรณีนี้ก็ตั้งสมการ
ให้เงินคือ x
มีเงิน 10 บาท ก็คือ x = 10
ขนมก็คือ y กินขนม 4 บาท y = 4
แล้วถ้าว่าจะเหลือเงินเท่าไหร่
ก็คือมี x เหลือเท่าไหร่
ก็เหลือเท่าเดิม 10 บาท
แต่ถ้าโจทย์บอกว่า
มีเงิน 10 บาท ไปซื้อขนม 4 บาทจะเหลือกี่บาท
อันนี้ก็คือ x = x - 4
x = 10 - 4 = 6
แต่ทุกวันนี้ไม่รู้สอนกันมายังไง
เจอโจทย์ข้อนี้มั่วกันเป็นแถวเลย อิอิ

สำหรับหลักสูตรภาษาอังกฤษ
หลักสูตร ป.1-ป.6
น่าจะเน้นเรียนฝึกพูดตามสถานการณ์ต่างๆ

ฝึกให้กล้าพูดกับชาวต่างชาติให้ได้
แล้วเรื่องไวยากรณ์ต่างๆ
น่าจะสอนตั้งแต่ ม.1 - ม.6
โดยที่เน้นเรื่องการฟัง การอ่าน การเขียน
ให้ดูหนัง สารคดี หรือทีวี 
ที่มี Subtitle แบบ English กับ Thai
เพื่อฝึกฟังสำเนียง และเพื่อความเข้าใจศัพท์ต่างๆ
สงสัยจะติดนิสัยชอบแนะนำ
เห็นอะไรเป็นชอบแนะนำไปหมด :-)


5. ลองทำทันทีตั้งแต่วันนี้

ข้อนี้ตรงๆ ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย
ถ้าไม่เริ่มลองทำแล้ว ก็ไม่ได้เริ่มอยู่นั่นเอง
จึงเน้นให้เริ่มลองทำสักครั้ง
ลองคิดอยากจะหาข้อมูล
เพื่อไปโต้ตอบสักกระทู้หนึ่ง

แล้วพยายามไปหาข้อมูล
พร้อมทำความเข้าใจ
แล้วนำไปอธิบายด้วยเหตุผล

แค่นี้ไม่ยากเย็นอะไรเลย
เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อน
แล้วจะรู้ว่าเป็นนักรบไซเบอร์ไม่ยากอย่างที่คิด
อย่าเอาแต่อ่านอย่างเดียว
ไม่แน่สิ่งที่ท่านไม่เคยทำ
พอลองทำสักครั้ง
ท่านอาจพบพรสวรรค์ใหม่ๆ ของตนเอง
ที่ท่านเองก็อาจไม่รู้ว่าเคยมี

แม้หนทางข้างหน้าจะมีอุปสรรคขวากหนามยังไง
แต่ถ้าเริ่มออกเดินย่อมไปถึงสักวัน
และเมื่อเริ่มออกเดิน ก็ยังได้ประสบการณ์เพิ่ม
ทั้งข้อผิดพลาดและสิ่งแปลกใหม่ที่เจอ
ก็อาจทำให้มีโอกาสมากกว่าคนที่ไม่คิดจะก้าวไปไหน
ท่านลองไปต่างประเทศดู
บางทีท่านอาจเห็นลู่ทางทำมาหากิน
ที่จะนำมาใช้ทำมาหากินในไทยก็เป็นได้
หรือไปรับรู้สิ่งแปลกใหม่
ที่อาจขัดกับความเชื่อดั้งเดิมของท่านก็ได้
เช่นที่ผมไปเห็นลายไทยคล้ายลายกนก
ที่สิ่งก่อสร้างนับพันปีของเนปาล
ผมถึงรู้ว่าหลายอย่างในไทย
รับเอาไปจากเนปาล
ผ่านการเผยแผ่ทางพุทธศาสนา

<<< เมื่อเริ่มออกเดิน ก็เริ่มมีหนทาง >>>
http://maha-arai.blogspot.com/2009/06/blog-post_6721.html


6. มีความรู้ต้องบอกต่อ

ถ้ามีความรู้แล้วไม่คิดจะบอกต่อใคร
แล้วคนอื่นจะรู้ จะเข้าใจอะไรได้ยังไง
แล้วเราจะเป็นนักรบไซเบอร์
หรือนักรบสภากาแฟได้ยังไง
ในเมื่อไม่ยอมบอกสิ่งที่รู้มาให้คนอื่นทราบ
มันจะกลายเป็นนักอ่านนักฟังกันไปหมด
ดังนั้นมีความรู้ต้องบอกต่อ

แถมพ่วงกาลเทศะเข้าไปข้อหนึ่ง
และดูตาม้าตาเรืออีกข้อหนึ่งด้วย

ความรู้เปรียบเสมือนน้ำ

ถ้ามันไหลอยู่เสมอก็ไม่เน่า
ถ้าไม่เคลื่อนไหวไปไหน
อยู่ในบ่อ เดี๋ยวสีน้ำก็เปลี่ยน
จากใสๆ เป็นเขียวเดี๋ยวก็เป็นดำจนได้
น้ำมักจะเน่าถ้าไม่มีการเคลื่อนไหว
ไม่มีประโยชน์เท่าน้ำที่เคลื่อนไหว
ในระดับที่เหมาะสม
มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดีอีกเหมือนกัน

ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

<<< ถ้ารู้แล้วอยู่เฉย คนไม่เคยรู้ ก็ไม่รู้เหมือนเคย >>>
http://maha-arai.blogspot.com/2009/05/blog-post_8428.html

<<< หน่วยกระพือข่าว >>>
http://maha-arai.blogspot.com/2009/05/blog-post_8181.html


7. อย่ารอใครสั่งให้ทำ


อันนี้ก็ชัดเจน
เน้นการทำงานแบบเสรีชน
ทำด้วยใจรัก ทำด้วยความชอบ
อย่าทำเพราะมีค่าจ้าง
เพราะจะมีเจ้านายคอยบงการ
ให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ให้ทำ
ไม่เป็นอิสระ
เหมือนกับคำสั่งลับช่วง คมช.
ที่มีการล้อกันเรื่องพวก 2.4
ที่มีหน้าที่โต้ตอบตามเว็บไซต์ต่างๆ นั่นแหล่ะ

การทำงานด้วยใจรัก
จะทำได้ดีกว่าการทำตามหน้าที่
และบางที คนเราต้องมีสักเรื่อง
ที่ทำเพราะไม่ต้องการเงิน
ที่ทำเพราะไม่ต้องการชื่อเสียงเกียรติยศอะไร
แต่ทำเพราะทนเห็นการบิดเบือนไม่ได้
ทนเห็นความไม่เป็นธรรมไม่ได้
ทนเห็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพไม่ได้
รวมไปถึงทนเห็นการทำรัฐประหารไม่ได้
จึงต้องออกมาทำนั่นทำนี่
โดยไม่ต้องมีใครสั่งให้ทำ
แต่ทำเพราะคิดว่ามันดี
ต่อขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยรวม

"อย่างน้อยเสี้ยวหนึ่งในชีวิต

ควรคิดทำสิ่งมีคุณค่าต่อสังคมบ้าง"


8. อย่าเน้นจดจำมากกว่าทำความเข้าใจ

เพราะว่าไม่มีใคร
จดจำอะไรได้อย่างแม่นยำไปได้ทุกเรื่อง

ยิ่งถ้ามาทำหน้าที่นักรบไซเบอร์ด้วยแล้ว
เถียงกันตั้งแต่เรื่องไร้สาระจนถึงสาระจัง
จะไปจดจำอะไรไหว
นอกจากทำความเข้าใจ
สามารถเล่ารายละเอียดคร่าวๆ
เพื่อทำความเข้าใจกับผู้อื่นได้
แต่รายละเอียดทั้งหมดก็ควรมีเก็บไว้
เช่น เรื่องราวที่ผมเก็บไว้บนเว็บ
ก็สามารถพิมพ์ไปแจกให้อ่านได้เลย
หรือ Copy ไปแปะตามเว็บบอร์ดได้เลย
ถ้าต้องการลงถึงรายละเอียดลึกๆ จริงๆ
จะเห็นว่าเราไม่เน้นจดจำให้รกสมองมากเกินไป
อะไรที่สมองทำแล้วไม่ดีกว่าคอมพิวเตอร์ทำ
ก็อย่าไปแย่งหน้าที่คอมพิวเตอร์ทำ
เช่น การจดจำสิ่งต่างๆ
ผมว่าไม่มีใครจำอะไรได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์แล้ว
ไม่ว่าสมองใครก็สู้คอมพิวเตอร์ไม่ได้
เก็บได้หลายร้อยหลายพันล้านเรื่องไม่มีจำนวนจำกัด
ขึ้นอยู่กับความจุของ Harddisk
แล้วยังจะมีสมองคนที่ไหนเก่งเท่านี้อีก
สมองคนอย่างดีแค่ไม่กี่เรื่อง
ที่สามารถจดจำได้ทุกคำแบบไม่ขาดตกบกพร่องเลย
ดังนั้นแทนที่จะเสียเวลา เสียเงิน
เพื่อไปฝึกทำให้สมองจำนั่นนี่ได้เก่ง
สู้เอาเงินไปซื้อคอมพิวเตอร์มาเก็บข้อมูลไว้ดีกว่า
ส่วนสมองคนนั้นเก่งกว่าคอมพิวเตอร์
ในแง่การซิกแซกพลิกแพลง
และคิดอะไรที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถคิดขึ้นมาได้เอง
แถม Software ที่ใช้รวมไปถึง Hardware ทั้งหมด
ก็เกิดจากสมองของมนุษย์ที่คิดขึ้นมาทั้งนั้น
ผมไม่เชื่อว่ามีคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมโต้ตอบได้สารพัด
ซับซ้อน ลึกซึ้ง กินใจหรือว่า วกวนจนงงไปหมด
เท่าสมองของมนุษย์สั่งให้มนุษย์พูดหรือเขียนออกมาได้


9. อย่าเชื่ออะไรในทันที

สิ่งนี้แหล่ะ ที่จะไปกระตุ้นให้สมองคิด
และกระตุ้นให้คนไปค้นคว้าเพิ่มเติม
ถ้าเชื่ออะไรในทันที ใครบอกอะไรก็เชื่อหมด
สมองแทบไม่ต้องคิดเลย
รับข้อมูลมา เอาไปเก็บไว้ในคลังสมอง
(อันนี้พูดให้เห็นภาพน่ะ
เดี๋ยวจะมาแย้งว่าสมองไม่มีคลัง
ต้องฝึกจินตนาการตามไปด้วย)
แต่ถ้าไม่เชื่ออะไรทันที
รับข้อมูลมาสมองก็จะไตร่ตรองทุกครั้ง
ว่าเรื่องนี้จะทำยังไงดี
เช่น จะจำดีไหมดูท่าไม่น่าเชื่อถือ
หรือลองแกล้งจำๆ ไปหน่อยก็ได้
เดี๋ยวอาจมีประโยชน์ในอนาคต เป็นต้น

ซึ่งเมื่อสมองทำงาน
เหตุผลก็จะมีตามมา
เหมือนท่านอ่านหนังสือ
หรืออ่านข้อความทั้งหลักสูตรนี้
อ่านจบแล้วก็จบกัน
ไม่ได้คิดว่าที่พูดมานี้
ตรงไหนจริงตรงไหนไม่จริง
สมองก็ไม่ได้คิดอะไร
ถ้าลองตรองดูเป็นเรื่องๆ
อย่าพึ่งเชื่อทันที
ท่านอาจพบว่ามีบางจุดที่ไม่ถูกต้อง
หรือไม่น่าเป็นไปได้ก็ได้ทั้งนั้น
ครั้งแรกเลยเมื่อท่านอ่านบทความนี้
เราอยากให้ท่านแสดงอาการไม่เชื่อ
ในสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด

แล้วลองหาเหตุผลมาหักล้างทีละข้อดู
แล้วถ้าว่างๆ ท่านก็ลองหาเหตุผลมาหักล้าง
และหาเหตุผลมาหักล้างเหตุผลที่พึ่งคิดหักล้างเมื่อกี้ดู
เมื่อลองทั้งสองอย่างแล้ว
หาอะไรมาหักล้างไม่ได้ท่านถึงค่อยเชื่อ
ถ้าหักล้างได้ลองแย้งต่อคนแนะนำดู
ว่าเขาสามารถหักล้างกลับได้ไหม
การกระทำแบบนี้ทุกๆ เรื่อง
ก็เพื่อให้ท่านไตร่ตรองทุกเรื่อง
อย่าเชื่อเพราะเป็นคนรู้จักกัน
หรือ เป็นคนมีชื่อเสียง

หรือ เป็นคนที่มียศฐาบรรดาศักดิ์สูงกว่าท่าน
หรือ อย่าเชื่อเพราะคำพูดนั้นน่าเชื่อถือ
ขอให้เชื่อก็ต่อเมื่อ
ท่านยอมจำนนด้วยเหตุผลแล้วเท่านั้น

ถ้าท่านคิดหาเหตุผลที่หักล้าง
บางเหตุผลของหลักสูตรนี้ได้
รวมไปถึงขอแนะนำเพิ่มเติม
น่าจะเพิ่มใส่เข้ามา
สามารถส่งข้อมูลมาให้ผม
ตาม email ข้างล่างนี้
chaowaritc@yahoo.com


10. มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

อันนี้ต้องเน้นย้ำเพราะมันสำคัญที่สุด
ชื่อหลักสูตรก็บอกอยู่แล้วว่า
หลักสูตร นักรบไซเบอร์ และ นักรบสภากาแฟ เพื่อประชาธิปไตย

ถามว่าทำไมต้องเพื่อประชาธิปไตย
เพื่อเผด็จการไม่ได้หรือ
อันที่จริงผมไม่ห้ามคนที่คิดจะนำไปใช้เพื่อเผด็จการ
ตั้งแต่ข้อ 1 - 9 ใครจะนำไปใช้ไปแนะนำต่อ
ไม่ว่าสีไหนเพื่ออะไรเต็มที่เหมือนเคย
แต่สำหรับผมจะแนะนำเพื่อประชาธิปไตย
การที่ผมเผยแพร่บนเน็ต
ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า
ไม่ได้ปกปิด ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะกลุ่มไหนพวกใด
ถ้าใครเห็นด้วย แล้วช่วยเป็นผู้แนะนำ
ขอบอกว่า ผมยินดีอย่างมาก
เรื่องประชาธิปไตยสำหรับผมไม่จำกัดสีไม่จำกัดกลุ่ม
ใครรักประชาธิปไตยจะเดินทางมาสายไหน
ยังไงก็ต้องไปเจอกันที่เป้าหมายเพื่อประชาธิปไตย
ส่วนความรักชอบสีหรือพรรคการเมือง
ผมมองว่าเป็นอุดมการณ์รองจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย
หรือไม่ก็แค่ความชอบส่วนตัว
ขอแค่วันใดประชาธิปไตยถูกรังแก เรามาช่วยกัน
ขอแค่วันใดประชาธิปไตยถูกทำลาย เรามาช่วยกัน
ขอแค่วันใดประชาธิปไตยถูกปล้นไป เรามาช่วยกัน
ขอแค่นั้น
นี่ก็เป็นอีกเสี้ยวหนึ่งในฝัน
ที่ฉันฝันอยากให้เป็นจริง


สรุปแนวทางที่แนะนำ 10 แนวทางดังต่อไปนี้

1. รักการโต้ตอบ
2. ชอบการหาข้อมูล
3. สูญเสียหน้าต้องยอม
4. ถนอมกำลังใช้แต่สมอง
5. ลองทำทันทีตั้งแต่วันนี้
6. มีความรู้ต้องบอกต่อ
7. อย่ารอใครสั่งให้ทำ
8. อย่าเน้นจดจำมากกว่าทำความเข้าใจ
9. อย่าเชื่ออะไรในทันที
10.มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

1. รักการโต้ตอบ
2. ชอบการหาข้อมูล
3. สูญเสียหน้าต้องยอม
4. ถนอมกำลังใช้แต่สมอง
5. ลองทำทันทีตั้งแต่วันนี้
6. มีความรู้ต้องบอกต่อ
7. อย่ารอใครสั่งให้ทำ
8. อย่าเน้นจดจำมากกว่าทำความเข้าใจ
9. อย่าเชื่ออะไรในทันที
10. มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย
จบหลักสูตร